“สมชัย” รับเรื่องดี ผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.ตีความ ม.61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ จะได้ชัดเจนขึ้น ชี้ถึงถูกตีความไม่ผิด กม.นี้ แต่อาจผิด กม.อื่น ยังเดินหน้าต่อได้ ขัด รธน.แค่ระเบียบ-ประกาศ กกต.บางส่วนไม่มีผลบังคับใช้ พร้อมเตือนทำโพลได้แต่ห้ามเผยแพร่ 7 วันก่อนออกเสียง
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกเลือกตั้ง กล่าวกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่ามาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ว่า ต้องอยู่ที่ศาลจะรับคำร้องของไว้พิจารณาหรือไม่ และจะพิจารณาว่ามาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งคงต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้บทบัญญัติของกฎหมายมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ขณะนี้ยังถือว่า พ.ร.บ.ประชามติยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งประธาน กกต.ในฐานะผู้รักษาการกฎหมายดังกล่าวก็ต้องยึดถือตามกฎหมายต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติขัดรัฐธรรมนูญ การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดในลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ก็จะไม่ถูกตีความว่าเป็นการกระทำที่ก่อความวุ่นวายจนเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ แต่ทั้งนี้ก็ยังอาจเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นได้ เช่น หากเผยแพร่ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือถ้าเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ โดยโทษก็อาจจะแตกต่างไปจาก พ.ร.บ.ประชามติ
“การกระทำทุกเรื่องมีกฎหมายอื่นรองรับ เพียงแค่ไม่ถือว่าเป็นการก่อความวุ่นวายเท่านั้น และหากศาลจะวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสองขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าไม่ได้ส่งผลต่อตัว พ.ร.บ.ประชามติทั้งหมด การออกเสียงประชามติก็จะยังเดินหน้าต่อไปได้ และวันที่ 7 ส.ค.ก็ยังจะเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดิม”
นายสมชัยเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อระเบียบ หรือประกาศของ กกต.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ อาจมีบ้างบางส่วนที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น ประกาศ กกต.ที่เกี่ยวกับอะไรทำได้และไม่ได้ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่โครงสร้างของกฎหมายประชามติฉบับเต็มยังคงอยู่ ยังสามารถบังคับใช้ได้อยู่
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า หากมาตรา 61 วรรสองเป็นโฆฆะ จะทำให้มีการปลุกระดมยั่วยุกันในอนาคตนั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะมีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่ กกต.ไม่ได้กังวลอะไร หากกฎหมายนี้ไม่มีผลบังคับใช้ กกต.ก็ยังคงทำงานไปตามปกติ กระบวนการออกเสียงประชามติก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะ พ.ร.บ.ประชามติยังคงอยู่
นอกจากนี้ยังกล่าวกรณีการทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของสถาบันการศึกษาว่า การทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน หรือการทำโพล เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากดำเนินตามกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นการชี้นำ เพราะอยู่บนหลักวิชาการ ซึ่งสถาบันการศึกษาที่จะจัดทำผลสำรวจนั้นต้องรับผิดชอบต่อชื่อเสียงเอง อย่างไรก็ตาม สื่อยังสามารถนำเสนอผลสำรวจดังกล่าวได้เช่นกัน หากแต่ห้ามเผยแพร่ในช่วง 7 วันก่อนวันออกเสียงประชามติ