“สมชัย” เปิดตัวแอปแรบบิตรีพอร์ต รายงานผลประชามติ พร้อมแสดงแบบเรียลไทม์ ทุ่มหนึ่งทราบผล ห้ามสื่อเชื่อมข้อมูลผ่าน กกต. หวั่นระบบล่ม เผย กกต. ดำเนินการเอง ยัน 80% ถูกต้อง ผลไม่เป็นทางการทราบใน 3 วัน มอง พท. โพสต์ไม่รับร่างฯไม่ผิด แต่ผลพิจารณายังไงไม่รู้ อย่าทำอะไรเสี่ยงผิด กม. รับร่วมสังเกตการณ์ได้ แต่ห้ามป่วน แจง เชิญ ANFREL ฐานะเพื่อน ปัดขัดนโยบายรัฐ
วันนี้ (15 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงเปิดตัวแอปพลิเคชันแรบบิตรีพอร์ต (Rabbit Report) ที่จะใช้ในการรายงานผลการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย 1 คน ต่อ 1 หน่วย กรอกข้อมูลจำนวนบัตรดี บัตรเสีย จำนวนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และจำนวนรับไม่รับคำถามพ่วง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเชื่อมกับจำนวนบัตรดีบัตรเสียที่ต้องให้ตรงกับผลการออกเสียงประชามติ คาดว่า การรายงานผลดังกล่าวจะสามารถแสดงผลได้หลังการปิดหีบลงคะแนนภายใน 1 - 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือประมาณ 17.30 น. และข้อมูลดังกล่าวจะส่งมายังสำนักงาน กกต. ส่วนกลางเพื่อประมวลผลและแสดงคะแนนแบบเรียลไทม์ ดังนั้น คาดว่า เวลาประมาณ 19.00 น. จะทราบผลการออกเสียงประชามติว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการได้ 95 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งการรายงานผลจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับประเทศ 2. ระดับภาคทั้ง 4 ภาค และ 3. ระดับจังหวัด ซึ่งจะได้ทราบว่าคะแนนรับหรือไม่รับ รวมทั้งคำถามพ่วงในแต่ละระดับเป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม สำหรับสื่อมวลชน กกต. จะตั้งจอโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อรายงานผลแบบเรียลไทม์ แต่ครั้งนี้จะไม่ให้สื่อเชื่อมข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน กกต. เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ระบบล่มและเกิดปัญหา
นายสมชัย กล่าวอีกว่า การรายงานผลการออกเสียงครั้งนี้ สำนักงาน กกต. ได้ดำเนินการเอง ไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัย หรือบริษัทต่าง ๆ เชื่อว่า การรายงานผลผ่านแอปพลิเคชันนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาอย่างน้อยตัวเลขไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง เพราะบางพื้นที่อาจเกิดเหตุที่ทำให้โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ ส่วนผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการนั้นจะทราบผลได้ภายใน 3 วัน หลังจากวันออกเสียง
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้เปลี่ยนรูปประจำตัวในเฟซบุ๊กที่มีข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ได้ทราบในเบื้องต้น ถ้าเป็นการกระทำโดยตัวบุคคลก็ถือว่าไม่มีความผิดเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ในการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าทำในนามพรรคการเมือง เช่น มีสัญลักษณ์ของพรรคหรือสามารถพิสูจน์ได้ว่าดำเนินการโดยพรรค ก็เป็นหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องพิจารณาว่าจะเข้าข่ายผิดประกาศ หรือคำสั่งของ คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมหรือไม่ ส่วนข้อสงสัยว่าการทีคณะบุคคลดังกล่าวได้โพสต์ในเวลาใกล้เคียงกัน จะถือเป็นการดำเนินการโดยพรรคหรือไม่นั้น ข้อมูลในเบื้องต้นยังไม่ชัดเจนต้องรอให้มีการพิจารณากันก่อน แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวก็มองว่าไม่ผิดอะไร แต่ยืนยันไมได้ว่า ถ้าผ่านกระบวนการพิจารณาแล้วจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ตนระบุว่าได้อาจจะกลายเป็นไม่ได้ก็ได้ ซึ่งได้มีคนมาถามตนว่าถ้าใส่เสื้อโหวตโนแล้วไปแจกใบปลิวตามสถานที่ต่าง ๆ ที่แสดงเจตจำนงว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่ ตนตอบไปว่าการใส่เสื้อไม่ผิด การแจกใบปลิวก็ไม่ผิดถ้าไม่มีข้อความที่ขัดกฎหมาย แต่ถ้าไปแจกแล้วเกิดปะทะกันทำให้เกิดความวุ่นวายก็จะผิดพ.ร.บ. ประชามติฯ ม.61 (1) ดังนั้น จะทำอะไรก็อย่าไปทำในสิ่งที่มันสุ่มเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ผิดกฎหมายก็ได้
นายสมชัย ยังกล่าวถึงการเข้าร่วมสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ ว่า ถ้าในประเทศ ทุกคนสามารถที่จะร่วมสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่การเปิดหีบออกเสียง การนับคะแนน และการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย รวมทั้งการกระทำที่อาจผิดกฎหมายต่าง ๆ แต่ต้องระวังว่าอย่าไปสร้างปัญหาก่อความวุ่นวายขัดขวางเจ้าหน้าที่หรือไปข่มขู่ผู้ออกมาใช้สิทธิ ส่วนองค์กรต่างประเทศนั้น กกต. มีมติว่าจะไม่เชิญองค์กรใด เพราะเราไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อรับรององค์กรที่จะมาร่วมสังเกตการณ์ได้ แต่ถ้าองค์กรใดสนใจเข้าร่วม กกต. ก็พร้อมที่จะดูแลตามอัตภาพเท่าที่จะทำได้ เช่น หาที่พัก อาหารการกิน ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล ติดต่อล่าม อย่างตอนนี้ที่ติดต่อมาคือเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) โดยมีสมาชิกในภูมิภาคเอเชียประมาณ 10 ประเทศ เป็นต้น แต่เมื่อองค์กรเหล่านี้เข้ามาก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายประเทศไทย ยืนยันไม่ขัดนโยบายรัฐบาลที่ไม่ต้องการเชิญองค์กรมาสังเกตการณ์ เพราะ กกต. ไม่ได้เชิญ แต่เหมือนกับเป็นการมาในฐานะเพื่อน เนื่องจากเมื่อต่างประเทศมีการเลือกตั้ง กกต. ไทยก็ได้ไปเจริญสัมพันธไมตรี พอเวลาบ้านเรามีเหตุการณ์สำคัญ เขาก็อยากมา
ด้าน นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการด้านบริหารงานทั่วไป เปิดเผยว่า มีองค์กรต่างประเทศที่ขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ 2 องค์กร คือ ANFREL กับ มูลนิธิเอเชียฟาวเดชั่น ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในภูมิภาคเอเชีย มีสมาชิกในแต่ละประเทศประมาณ 10 - 20 คน ส่วนประเทศที่ติดต่อขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ คือ กกต. ประเทศภูฏาน ขณะยังมีองค์กรอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่ประสานเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าก่อนถึงวันออกเสียงจะมีองค์กรเข้ามาร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก