xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ประเดิมนครศรีฯ แจงร่าง รธน. กปปส.หนุนผ่านประชามติ ปชป.ฉะเป็นฉบับอคติกับนักการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร (แฟ้มภาพ)
กกต.ประเดิมเวทีชี้แจงประชามติร่าง รธน.นครศรีธรรมราช นักการเมือง-ผู้บริหาร อปท.-ภาค ปชช. ร่วมประชุมคึกคัก กปปส.จี้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง “วิทยา แก้วภราดัย” ลั่น กปปส.รับร่าง รธน. คำถามพ่วง ขณะที่ “วิษณุ” อ้างต้องใช้เวลาปฏิรูป รัฐบาลชุดปัจจุบันแค่เริ่มต้นให้รัฐบาลเลือกตั้งสานต่อ ด้าน “นิพิฏฐ์” ฉะร่าง รธน.อคติกับนักการเมืองมากไป ยกข้าราชการประจำให้เข้มแข็งขึ้น “สมชัย” ปลื้มประชุมชี้แจงประสบความสำเร็จ บอกกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดมินิคอนเสิร์ตได้ หากใช้ถ้อยคำเป็นเท็จหยาบคาย ต้องถูกดำเนินการ

ที่สโมสรรื่นฤดี ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช วันนี้ (10 มิ.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการจัดประชุมชี้แจงเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ ประชาชน” โดยมีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนคณะรัฐมนตรี นายประพันธ์ นัยโกวิท และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เป็นตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายกล้าณรงค์ จันทิก และนายสมชาย แสวงการ เป็นตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมชี้แจง โดยมีนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น เครือข่ายพรรคการเมืองในพื้นที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคพลเมืองที่สนใจเข้าร่วมฟังการชี้แจงจำนวนมาก เช่น นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวว่า กกต.ได้กำหนดวันออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งก็มีการถามว่าเลื่อนได้หรือไม่ การเลื่อนประชามตินั้น กกต.ไม่สามารถทำได้ หากจะทำต้องไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ถ้าถามว่าเลิกได้หรือไม่ ตนก็บอกว่าเลิกได้ทุกวัน ทั้งนี้ในการทำประชามติ กกต.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกผู้มีสิทธิอย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก และทำให้การทำประชามติครั้งนี้เป็นที่ยอมรับทั้งกระบวนการและผลการทำประชามติ ซึ่งจะต้องได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและสากล การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าใจเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ส่วนการรณรงค์นั้นหากใครก็ตามที่พูดด้วยเหตุและผล ไม่บิดเบือน ไม่เป็นเท็จ ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความเห็น

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นคำตอบหนึ่งที่จะมาตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทุกคนต่างไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกซึ่งเกิดความไม่สงบเรียบร้อยแทบทุกด้าน บางรัฐบาลเข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ บางรัฐบาลแถลนโยบายไม่ได้ เกิดปัญหาทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ กลไกกระบวนการต่างๆ ของประเทศชะงักไปหมด มีความขัดแย้งในสังคมสูง ทั้งนี้ การทำประชามติจะมี 4 ทางเลือก คือ 1. หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงไม่ผ่านก็สามารถประกาศใช้เลย 2. หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงผ่านก็จะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วง 3. หากไม่ผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็คิดว่ารัฐบาลมีทางออก แต่ตนไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดอะไร แต่ก็ต้องร่างใหม่อยู่แล้ว แต่กระบวนการจะเร็วขึ้น 4. หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วคำถามพ่วงผ่าน ก็จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกับผลประชามติของคำถามพ่วงที่ผ่าน ซึ่งหากมีการร่างใหม่อีกครั้งก็คงไม่ต้องมีการทำประชามติอีกแล้ว คงประกาศใช้เลย

ทั้งนี้ หลังจากตัวแทน กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมตั้งคำถาม โดยมีประชาชนจากจังหวัดพัทลุงถามว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะยึดโยงประชาชนหรือให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมได้อย่างไร และควรเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ร่างโดยสภาที่ประชาชนเลือกมาหรือไม่ และการมี ส.ว.สรรหานั้นจะยึดโยงกับประชาชนได้อย่างไร

โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ.ตอบคำถามว่า การทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และมีการนำไปปรับปรุง เราพยายามทำเพื่อประชาชนส่วนรวมทุกคน ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเรื่อง ส.ว.นั้น ส.ว.ในบทปกตินั้นจะเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง สามารถเลือกกันเองเป็น ส.ว.ได้ มีเพียงในบทเฉพาะกาลเท่านั้นที่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ส่วนการทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นในร่างรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นการทำให้ทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันของคนทั้งประเทศ เพราะที่ผ่านมาเราไม่มียุทธศาสตร์ชาติทำให้เราพัฒนาช้ากว่าสิงคโปร์ และมาเลเซีย ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์ชาติจึงไม่ใช่การทำเพื่อวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่เป็นการทำเพื่อลูกหลานเราในอีก 20 ปีข้างหน้า

นายวิทยา แก้วภราดัย ในฐานะตัวแทน กปปส. ถามว่าการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านจะต้องมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและทำกฎหมายลูก คิดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือน จึงอยากถามว่าที่ผ่านมามีการพูดถึงการปฏิรูป และ กปปส.เคยบอกว่าต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะหากไม่ปฏิรูปก็จะเข้าสู่วงจรเดิม ดังนั้นจึงคิดว่าหลังจากนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาปฏิรูป 10 เดือน เพราะตนไม่ฝากความหวังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังทำไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นหลังจากนี้คือจะมีการปฏิรูปการเมืองอย่างไร เพื่อไม่ให้มีการซื้อเสียง การเลือกตั้งสุจริต การปฏิรูปการบริหาราชการแผ่นดินจะทำอย่างไร การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิรูปตำรวจ ควรจะต้องมีการแตะบ้าง เพราะบางทีมีคนบอกว่านักการเมืองเป็นที่วิ่งเต้นของตำรวจวันนี้ไม่มีนักการเมืองก็ควรจะปฏิรูป

“ผมขอให้กำลังใจรัฐบาลในการแก้ปัญหา และขอฝากท่านรองนายกฯ ฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าในเวลาที่เหลือนี้พวกผมอยากเห็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะหากไม่มีการปฏิรูปเท่ากับการปฏิวัติครั้งนี้เสียของ คนที่เจ็บปวดที่สุดก็คือประชาชน พวกเราไม่อยากเห็นพวกท่านไปแล้ว แล้วคนที่มาทีหลังมาย่ำยีประชาชน เพราะเท่าที่เห็นมีแต่การฝากให้รัฐบาลต่อไปทำการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเราเห็นด้วยทั้งรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง หาก นปช.ไม่รับ พวกผมรับกันเอง”

โดยนายวิษณุตอบคำถามของนายวิทยาว่า การที่จะบอกว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนั้นพูดได้ แต่ทำยาก เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ หากเปลี่ยนแปลงก็จะมีความขัดแย้ง เห็นต่างกันเสมอ หากเราบอกว่าปฏิรูปก่อนแล้วค่อยไปเลือกตั้ง ก็จะไม่ได้เลือกตั้ง เพราะจะเกิดความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนรัชกาลที่ 5 คิดเรื่องเลิกทาส ยังต้องใช้เวลากว่า 30 ปีกว่าจะทำได้สำเร็จ เพราะไม่สามารถที่จะคิดแล้วทำได้เลย เนื่องจากมีความขัดแย้ง มีความเห็นต่างอยู่ ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้อย่างที่นายวิทยาพูดก็คือเริ่มอะไรบางอย่างเรื่องการปฏิรูปไว้ก่อน แล้วให้คนที่มาจากการเลือกตั้งเอาไปทำต่อ เพราะจะมีศิลปะในการลดความขัดแย้งได้ดี ทั้งนี้ตนเข้าใจว่ารัฐบาลนี้ได้ทำมาหลายเรื่องแล้วในการริเริ่มการปฏิรูป ซึ่งจะไปผูกกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลนี้จะอยู่ 20 ปี แต่คนที่อยู่ต่อจะต้องทำต่อไป

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องผู้แทนประชาชนอย่างไร เพราะฝ่ายนิติบัญญัตินั้นถือเป็นต้นทางของการใช้อำนาจต่างๆ เป็นต้นทางของฝ่ายบริหาร หากได้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ดีก็จะได้รัฐบาลที่ไม่ดี ทั้งนี้ในทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับผู้แทนของประชาชน แต่มีเพียงประเทศเราที่เริ่มทำให้ไม่รู้สึกอย่างนั้น และมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนโดยมีอคติกับนักการเมืองมากเกินไป ทั้งเรื่องสภาพความเป็น ส.ส.ที่หากถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาณ แต่ศาลตัดสินจำคุกและรอลงอาญา ก็จะทำให้หมดความเป็นสมาชิกภาพ รวมทั้งการที่ห้ามให้ ส.ส.อนุมัติงบประมาณนั้นแม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็จะทำให้ฝ่ายราชการแข็งมากขึ้น โดยที่นักการเมืองไม่สามารถไปแตะอะไรได้เลย ทั้งที่เรื่องงบประมาณเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาทุกข์ของประชาชนได้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวภายหลังประชุมชี้แจงเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” ว่า การจัดประชุมในวันนี้ เป็นการจัดประชุมตัวแทนจากพรรคการเมือง และผู้นำชุมชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงกกต. เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสาระร่างรัฐธรรมนูญ คำถามพ่วงประชามติ กระบวนการออกเสียงประชามติ และบทบาทของรัฐ รวมถึงการสนับสนุนการทำงานดังกล่าว และการมองต่อไปภายในอนาคตต่อการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน รวมถึงการตอบข้อซักถามจากทุกฝ่าย โดยภาพรวมของการจัดประชุมดังกล่าวถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จ เป็นไปอย่างเรียบร้อย และเป็นต้นแบบในครั้งต่อๆ ไป เพราะครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่จ.เชียงใหม่ และสัปดาห์ถัดไปจะจัดที่จ.นครราชสีมา

ส่วนเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรคสองนั้น อยู่ในขั้นตอนที่ศาลจะเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องไปให้คำชี้แจง ซึ่งทาง กกต.และ สนช.จะมีการส่งตัวแทนเข้าไปภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ศาลจะพิจารณาเสร็จเมื่อไหร่นั้น กกต.ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาดังกล่าวก่อนที่ศาลจะพิจารณา ก็ต้องบอกว่ากฎหมายยังมีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้น การที่จะทำการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีความก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย และปลุกระดม ก็ยังถือว่าเป็นความผิด ที่เข้าข่ายก่อความวุ่นวาย ทั้งนี้ก็ต้องรอศาลพิจารณาว่าผลจะออกมาอย่างไร หากศาลพิจารณาว่า ไม่ขัดก็ดำเนินการต่อไป ถ้าหากขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องเสนอการแก้ไข เป็น พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดย สนช.

“ทุกวันนี้เริ่มที่จะเห็นความจำเป็นในมาตรา 61 วรรคสอง และเห็นว่ายังให้คงมาตรา 61 วรรคสองไว้ เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ การใช้ถ้อยคำหยาบคายเพื่อนำไปสู่การโน้มน้าวจูงใจ เพื่อให้เกิดการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือขัดขวางการไปออกเสียง การกระทำการเชิงปลุกระดมเพื่อให้คนมีการรณรงค์เพื่อให้ไปในทิศทางในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเริ่มเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีกฎหมายอื่นที่รองรับ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญา และประกาศต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เกรงว่าอาจจะไม่เพียงพอ” นายสมชัยกล่าว และว่า เมื่อ กกต.เข้าไปชี้แจงต่อศาล คงจะชี้ให้เห็นว่ามาตรา 61 วรรคสองไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต้องคงกฎหมายดังกล่าวไว้ เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องอยู่ในขอบเขต และหากไม่มีการปรามกันภายใน 2 เดือนก่อนมีการออกเสียงประชามติ อาจจะมีความวุ่นวาย ทั้งนี้ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัด ก็ไม่กระทบต่อวันออกเสียงประชามติ

ส่วนกรณีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับจะเปิดแสดงมินิคอนเสิร์ตเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่หน้าสำนักงาน กกต.ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ว่า เป็นสิทธิของเขาที่จะแสดงออก เป็นสิทธิของประชาชนที่จะร้องเพลงอะไรก็ได้ หรือจะแสดงอะไรก็ได้ ตราบใดก็ตามที่ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือนำไปสู่การสร้างความรุนแรง ปั่นป่วน วุ่นวายเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อยากให้ระมัดระวังเนื้อหาของเพลงที่ร้อง เมื่อใดก็ตามที่ร้องเพลงนั้นอย่างมีเหตุผล ไม่ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือมีถ้อยคำที่หยาบคาย ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าหากว่ามาร้องเพลงที่หน้าสำนักงาน กกต. และมีเนื้อหาที่หยาบคายเป็นเท็จ กกต.มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น