xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” โนคอมเมนต์มติผู้ตรวจฯ “วัลลภ” ยันยังมีประชามติ “วิรัตน์” ชี้ถ้า กกต.แจงแต่แรกก็จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีเห็นมติผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วแต่ไม่มีความเห็น ด้าน สนช. “วัลลภ” ชี้กระบวนการโหวต เผยแพร่ร่างฯ ชี้แจงคำถามพ่วง ยังทำได้ตามปกติ เตือนกฎหมายยังบังคับใช้อยู่ ถ้าวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญก็แค่มาตรานั้นตกไป เชื่อไม่เกี่ยวล้มประชามติ ด้านหัวหน้าทีมกฎหมาย ปชป.รับวรรค 2 คลุมเครือจริง ชี้ถ้า กกต.แจงรายละเอียดตั้งแต่ต้นก็จบ เหมือนทำบัตรดี-บัตรเสียโชว์

วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ตามที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเอทร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า “เห็นแล้ว แต่ไม่ทราบ ไม่มีความเห็น รอให้เขาแถลงก่อน”

ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า แม้ผู้ตรวจฯจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย แต่คิดว่ากระบวนการจัดการประชามติในส่วนอื่นๆ ยังคงสามารถดำเนินการไปตามปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) การชี้แจงทำความเข้าใจคำถามพ่วงประชามติของ สนช.รวมไปถึงการตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายประชามติที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

“โดยหลักการแล้ว มาตรา 61 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่สมบูรณ์ทุกประการ ซึ่งในระหว่างนี้ถ้าใครทำผิดกฎหมายประชามติก็ต้องถูกดำเนินคดี และยิ่งถ้าเป็นกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ จะต้องถูกดำเนินคดีควบคู่ไปพร้อมกันเช่นกัน” นายวัลลภกล่าว

เมื่อถามว่า หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 61 ของกฎหมายประชามติขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2559 จะมีผลให้ต้องจัดทำกฎหมายใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ นายวัลลภกล่าวว่า เมื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะมาตรา 61 หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามาตราดังกล่าวมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2559 จะทำให้เฉพาะมาตรา 61 ตกไปเท่านั้น

ส่วนการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความประสงค์ที่ต้องการให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้นตามที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มออกมาตั้งข้อสังเกตหรือไม่ นายวัลลภกล่าวว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการล้มประชามติ เพราะผู้ที่ยื่นคำร้องในกรณี คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นกรณีที่กลุ่มบุคคลบางกลุ่มไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงก็อาจมองได้ว่ามีเจตนาเช่นนั้น

“เข้าใจว่าผู้ตรวจฯ ต้องการให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเท่านั้น โดยไม่มีเจตนาแอบแฝงแต่อย่างใด” นายวัลลภกล่าว

ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าในวรรคสองมีความคลุมเครือจริง การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงถูกต้องแล้ว แต่เรื่องนี้ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยกตัวอย่างชี้แจงรายละเอียดมาตั้งแต่ต้นก็จะไม่มีความวุ่นวาย กกต.ต้องชี้แจงว่า อะไรทำได้ หรือไม่ได้ โดยจะต้องยกตัวอย่างว่าอะไรคือคำว่าข่มขู่ หยาบคาย ก้าวร้าว ตามที่มาตรา 61 วรรคสองระบุ ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้ กกต.ทำตัวอย่างให้ชัดเจนเหมือนกับที่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพในกรณีบัตรดีและบัตรเสีย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การยกตัวอย่างนี้ให้เกิดความแพร่หลายต่อสาธารณชน มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่ กกต.ในแต่ละพื้นที่จังหวัดอาจตีความต่างกัน ดังนั้น กกต.ควรจึงยกตัวอย่างให้ชัดเจนกว่านี้

“ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตีความแค่ว่า มาตราดังกล่าวขัด หรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่คงไปยกตัวอย่างหรือนิยามคำว่า ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่ ไม่ได้ เพราะเกินขอบเขตอำนาจของศาล ถ้าศาลตีความว่ามาตรา 61 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหา แต่หากศาลตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ต้องทำหน้าที่เร่งแก้ไขให้เรียบร้อยตามคำสั่งศาล ทั้งนี้ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างไรก็ตาม เป็นอำนาจหน้าที่ของศาล ใครก็ไปก้าวล่วงไม่ได้ แต่ตนยืนยันว่า ไม่ว่าคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ กกต.ต้องออกมายกตัวอย่างให้ชัดเจนโดยอาจทำออกมาในรูปแบบระเบียบหรือประกาศ กกต.ก็ได้” นายวิรัตน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น