xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” เหน็บนักการเมือง-กลุ่มสีเสื้อใช้อำนาจตามอำเภอใจ รับไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน กรธ. เล็งให้ สนช. ร่วมชี้แจงคำถามพ่วงประชามติเวทีเดียวกัน หวั่นเกิดความสับสนและพูดขัดกัน เชื่อ พ.ร.บ. คุ้มครองหากมีป่วน พยายามพูดให้สติ เชื่อบางกลุ่ม บางพรรควิจารณ์ คุ้นเคยใช้อำนาจตามอำเภอใจ รักษาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง จึงยากที่จะยอมรับ โต้นักวิชาการพูดไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า มั่นใจชี้แจงประชาชนได้

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวทางในการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ ว่า กรธ. จะหารือเรื่องแนวทางการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นจะให้แม่ข่ายอาสาสมัครจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมดำเนินการ และจะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมชี้แจงในส่วนของคำถามพ่วงประชามติในเวทีเดียวกันหรือไม่ เพราะมีความกังวลว่า ถ้า กรธ. และ สนช. ไปชี้แจงคนละครั้ง อาจจะยิ่งทำให้ประชาชนมีความสับสน โดย กรธ. จะอธิบายในส่วนของรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่สนช. จะได้อธิบายในเรื่องของคำถามพ่วง ซึ่งจะได้ช่วยกันชี้แจง เพราะถ้าเราต่างคนต่างไป จะเสียเวลาของชาวบ้านที่ต้องมาฟัง และคนที่ไปพูด เมื่อพูดคนละทีสองที จะกลายเป็นพูดไม่ตรงกัน หรือพูดขัดกัน อาจทำให้ชาวบ้านสับสน อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่ของ กรธ. ตนจะไปด้วยตนเองในบางจุด ซึ่งจะดูเป็นวาระ เช่น การลงพื้นที่ร่วมกับแม่ข่ายอาสาสมัคร ตนอาจจะต้องไปทำความเข้าใจด้วยตนเอง

เมื่อถามว่า กังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายในการลงพื้นที่เหมือนเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า เราจะบอกให้ฝ่ายบ้างเมืองให้รู้ว่า จะไปไหน ทำอะไร ขณะที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติก็มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้ามีการขัดขวางการทำงานของ กรธ. ขึ้น ก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย ซึ่งหากมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ก็ไม่เป็นไร เราจะพยายามพูดเพื่อให้เขาได้สติ ส่วนที่กลุ่มการออกมาแสดงความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ตนไม่มีความเห็น เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะพิจารณา ไม่ใช่เรื่องของ กรธ. ซึ่งหากมองในแง่ของบางพรรค หรือบางคน ที่คุ้นเคยกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจ รักษาผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง รัฐธรรมนูญนี้ก็คงยากที่เขาจะยอมรับได้ แต่หากมองในแง่ที่ว่า ประชาชนได้อะไรจากรัฐธรรมนูญนี้ คือ มีกฎกติกาที่ถาวร การศึกษาที่ได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมกัน มีการใช้กฎหมายอย่างเท่ากัน ไม่ใช่ว่า ตารางมีไว้ขังคนจน คนรวยไม่ถูกขัง และการปฏิรูปจะเดินหน้าสู่จุดหมายที่ดีขึ้นได้ ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องพิจารณาว่า จะเห็นแก่พรรคการเมือง หรือ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนที่จะได้มีความทัดเทียมกัน

สำหรับนักวิชาการที่ติติงร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าอ่านดี ๆ จะพบว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า เพราะรัฐธรรมนูญเขียนสำหรับคนทั้งประเทศ ถ้าทำใจกว้าง ๆ และเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ก็คงจะไปกันได้ ทั้งนี้ มั่นใจว่า กรธ. จะสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ แต่อาจมีข้อเสียเปรียบ เมื่อเทียบกับเครือข่ายของพรรคการเมือง ตรงที่เราจะลงไปเพื่อเข้าถึงรากหญ้าได้ด้วยตัวเอง อาจทำได้ลำบาก แต่เราต้องพยายามอย่างเต็มที่ มีกำลังเท่าไหร่เราก็ต้องว่ากันไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการลงประชามติ แต่หลายฝ่ายก็มีการเสนอว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้นั้น อาจเป็นเพราะเป็นเพราะไปคาดคั้นถามมาก ๆ เขาก็เลยตอบ ทั้งที่จริง ๆ แล้วผลจะเป็นอย่างไร ยังไม่ใครรู้เลย ขณะนี้เราคิดเพียงว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ปัญหาที่เรากำลังแก้ เป็นปัญหาที่มีมาจริงเราเลยต้องแก้ไข ส่วนจะเหมือนหรือไม่เหมือนกับบางประเทศนั้น เราคงจะไปลอกเขามาหมดไม่ได้ เพราะปัญหาแต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน เราดูปัญหาจากในอดีต แล้วเขียนกลไกไว้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น