xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯว้ากนักวิชาการ ห้ามวิจารณ์ร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุเพิ่มเติม เรื่องข้อปฏิบัติ จาก 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ ในการแสดงความเห็นช่วงการทำประชามติร่างรธน. ว่า เมื่อกฎหมายออกมา ก็รับฟัง และเห็นว่าไม่ได้ขัดแย้งอะไร แต่สิ่งที่ตนห้ามนนั้นคือ การรณรงค์ให้รับ หรือไม่รับ แต่การอธิบายทำความเข้าใจ ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล ทั้งหมดนี้อยู่ที่เจตนาคนทำ
ส่วนที่นายสมชัย ระบุว่า สามารถรณรงค์ให้ รับ-ไม่รับได้ แต่แต่ต้องมีเหตุผลทางวิชาการนั้น นายกฯ กล่าวย้อนว่า เขาไม่ให้พูดไม่ใช่หรือ การับ หรือไม่รับ ถ้าอย่างนั้นก็ไปหาเหตุผลมา
" วิชาการอะไร วิชาการต่อต้านฉันหรือ หลักการ วิชาการ ทั้งนั้นแหละคือต่อต้านรัฐบาล วิชาการเขามีแบบนี้หรือ วิชาที่ไหนสอน ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย สับสน คนถูกบิดเบือน ปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้ง วิชาการที่ไหนเขาสอน มีประเทศนี้แหละสอน แต่ทั้งหมดไปถาม กกต.ให้เขาชี้ เพราะเขาเป็นคนเขียนกฎหมาย อย่าให้เราตัดสิน ถ้าตัดสินตีกันเมื่อไหร่ ก็ทั้งคู่ " นายกฯกล่าว และว่า เรื่อง 6 ข้อที่ทำได้ และ 8 ข้อที่ทำไม่ได้นั้น ออกมาเพื่อไม่ให้มีการบิดเบือน ไม่ให้มีการชักจูง ให้ทุกคนมีสิทธิ บอกว่าถ้าไม่ให้พูด คุณพูดเอง คุณก็ล้มคำพูดของตัวเอง ถ้าไม่ชี้แจงอย่างนี้ ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย ไม่ชักจูงเขา ประชาชนก็ไม่รู้ แล้วบอกว่าประชาชนเรียกร้อง เขาเรียกร้องเพราะเขาไม่รู้หรือ ท่านบอกว่าเขาไม่รู้เรื่องหรือ เขารู้ แต่เขาสับสน คนเหล่านี้ออกมาพูดจนทำให้สับสน
เมื่อถามถึงความคลุมเครือในความหมายของคำว่า ปลุกปั่น ยั่วยุ ในการทำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างฉุนเฉียว ว่า ถ้ามีสำนึกเป็นคนไทยจะแยกออกว่า อะไรคือปลุกปั่น ไม่ปลุกปั่น บ้านเมืองจะทำประชามติ จะไปล้ม ถามว่าแบบนี้ปลุกปั่นหรือไม่ ปัดโธ่ ก็เขาเขียนห้ามรณรงค์รับหรือไม่ แล้วต้องไปดูอะไรอีกหรือ จะดูบ้าน ดูครัว หรืออย่างไร พฤติกรรมก็เห็นอยู่แล้ว นักข่าวก็ถามเพื่อยั่วอารมณ์ทั้งนั้น แล้วมาหาว่านายกฯหัวเสีย ผมไม่ได้หัวเสีย บางครั้งผมก็แกล้งไปอย่างนั้น
เมื่อถามว่า กังวลจะถูกนำไปตีความหรือไม่ นายกฯ กล่าวเสียงดัง ว่า "ปัดโธ่ จะไปตีความอะไรหนักหนา คำหยาบคาย ไม่รู้หรือ จะต้องไปตีความใครอีกวะ พูดให้ฟังเอาไหม คำว่าหยาบคาย เป็นสิ่งที่ผู้ที่สติปัญญา หรือผู้ที่เป็นวิญญูชนพึงสำนึกได้ ด้วยความเป็นคน อะไรที่หยาบคาย อะไรที่คลุมเครือ การพูดจาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง มันชัดไหม ส่วนเรื่องการพูดจาในเชิงที่ชักชวนให้รับ หรือไม่รับ ชัดไหม การพูดจาที่มีเจตนาบริสุทธิ์ พูดให้เห็น ข้อดี ข้อเสีย โดยไม่มีการชักจูงอารมณ์ แล้วจะไปตีความอะไร นักหนา ใครจะไปตีให้มันยุ่งวะ ทุกวันยุ่งไม่พอหรือไง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมของ กรธ.ในการเผยแพร่ ร่างรธน.ว่า หลังจาก"วิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย" ทั้ง ครู ก. ครู ข. ครู ค. ลงไปอธิบาย ชี้แจงถึงเนื้อหา สาระสำคัญของร่างรธน.แล้ว หากประชาชนยังมีข้อสงสัย และทางวิทยากรฯ อธิบายไม่ได้ ทางกรธ. มีความคิดที่จะตั้งคอลเซนเตอร์ เพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนดำเนินการอยู่ และไม่ห่วงกระแสการต่อต้านร่างรธน. ในระหว่างการทำความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่อ่อนไหวทางการเมือง เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน เพราะวิทยากรจะเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว แต่หากเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยดูแลอยู่
"การที่ประชาชนจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะมาก่อกวน หากไม่เห็นด้วยก็ขอให้บอกเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร แต่อย่าบิดเบือน ก้าวร้าว ใช้คำหยาบคาย ไม่เหมาะสม การเห็นที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมอยู่แล้ว ทั้งนี้ตอนที่เราลงพื้นที่ ต้องคิดอยู่เสมอว่า ประชาชนเขายังไม่รู้ ต้องอธิบายให้หมด และทำให้เขาเข้าใจให้ได้" นายมีชัยกล่าว
ในวันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. ได้ไปชี้แจงเนื้อหาสาระ ร่างรธน. และกระบวนการต่างๆหลังจากนี้ ต่อคณะทูตานุทูตต่างประเทศ ที่ประจำการในประเทศไทย และ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานในประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากสถานทูต 47 แห่ง เป็นระดับเอกอัครราชทูต 12 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ 6 แห่ง
นายนรชิต แถลงว่า การชี้แจงครั้งนี้เกิดจากที่ทูตประเทศต่างๆให้ความสนใจอยากฟัง ไม่ใช่เพราะกรธ. ขอมาบรรยายสรุปเอง โดยยืนยันว่า กรธ.มีความตั้งใจร่างรธน.ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ และวัฒนธรรมของประเทศไทย
ทั้งนี้ คณะทูตส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเนื้อหาของบทเฉพาะกาล ที่ระบุให้มี ส.ว. เปลี่ยนผ่านในช่วง 5 ปี ซึ่งทางกรธ.ได้ชี้แจงผลการลงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ 4 แนวทาง คือ 1. หากรธน.ผ่าน และคำถามพ่วงประชามติผ่าน ก็ต้องแก้ไขบทเฉพาะกาล 2. หากรธน.ผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อประกาศใช้ได้เลย 3. หากรธน.ไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงผ่าน ผู้ที่ร่างรธน.ใหม่ ต้องคำนึงถึงมติของประชาชนที่ต้องการให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน และ 4. หากไม่ผ่านทั้งคู่ กรธ.จะสิ้นสภาพไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องดำเนินการให้มีร่างรธน.ฉบับใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น