xs
xsm
sm
md
lg

สนช.พร้อมขึ้นเวทีร่วม กรธ.แจงคำถามพ่วงประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
“สนช.เตรียมระดมสื่อรัฐเผยแพร่คำถามพ่วงประชามติ พร้อมเดินสายชี้แจงร่วมกับ กรธ. แนะ กกต.เร่งออกกรอบให้ชัดอะไรทำได้ไม่ได้ โดยยึดสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นหลัก

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ชี้แจงคำถามประกอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ได้หารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้ว ได้ข้อสรุปร่วมกัน 4 ข้อ คือ 1. สนช.จะขึ้นเวทีเดียวกันกับ กรธ. เพื่อชี้แจงและเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดย สนช.จะชี้แจงในส่วนของคำถามประกอบการทำประชามติ ซึ่งนายมีชัยเห็นด้วยกับหลักการที่จะใช้เวทีเดียวกัน ไม่แยกกัน เพราะจะซ้ำซ้อนเรื่องงบประมาณและรบกวนเวลาประชาชนมากไป

2. สนช.จะประชาสัมพันธ์คำถามประกอบการทำประชามติผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ สนช.พบประชาชน 3. สนช.จะสื่อสารเรื่องคำถามประกอบการทำประชามติ ผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐสภา โดยให้นโยบายกับผู้บริหารสถานีให้ปรับผังรายการเพื่อรองรับภารกิจของ สนช.ในช่วงดังกล่าว และ 4. สนช.จะใช้เครือข่ายสื่อต่างๆ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี และทีวีดิจิตอลเครือข่าย เพื่อให้ช่วยทำความเข้าใจคำถามประกอบการทำประชามติด้วย หลังจากนี้ สนช.จะจัดสัมมนาสมาชิกสนช.ทั้งหมด เพื่อหาอาสาสมัครลงพื้นที่ชี้แจงคำถามพ่วงประชามติตามกลุ่มพื้นที่ต่างๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่คำถามประกอบฯ ผ่านความเห็นชอบจะทำอย่างไรในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ นายสุรชัยกล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่คำถามพ่วงประชามติได้รับความเห็นชอบ ผู้รับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ ต้องนำคำถามพ่วงที่ได้รับความเห็นชอบไปพิจารณาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ เพราะถือเป็นมติของประชาชนทั่วประเทศ

ส่วน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ชัดเจนว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้วินิจฉัย ที่ผ่านมา สนช.ได้ปรับแก้กฎหมายดังกล่าวในหลายจุดให้เกิดความชัดเจน เชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจได้

ส่วนกรณีที่กลุ่ม นปช.และ กปปส.แสดงจุดยืนรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าผิดกฎหมายประชามติหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นหน้าที่ กกต.วินิจฉัย แต่หลักสำคัญของกฎหมายประชามติมี 2 เรื่อง คือ 1. การให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และ 2. การใช้สิทธิแสดงความเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่อย่าชักจูง ชี้นำ หรือข่มขู่ คนอื่นให้เห็นคล้อยตาม เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ดังนั้นหากการกระทำใดขัดหลักการดังกล่าวถือว่าทำไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น