xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการอัด ม.61 คลุมเครือ - “สมชัย” ลั่นของดีอย่าดราม่าไปเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
สัมมนาวิชาการ กกต. ครบรอบ 18 ปี “สมชัย” โอดมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ. ประชามติฯ เป็นจำเลยสังคม ลั่นเป็นของดี ซัดเดี๋ยวนี้เอาความเท็จมาหลอกประชาชน ถามอยากให้หยาบคาย - รุนแรงหรือไม่ แนะอย่าดราม่าไปเอง ด้าน “อ.ปริญญา” โวยกลับ “ปลุกระดม” มีกฎหมายอาญาคุมอยู่แล้ว อย่าไปใส่ ชี้บรรยากาศมืดดำ ผ่าน - ไม่ผ่าน ยังไมรู้อนาคต ส่วนอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้เพลงประชามติชี้นำชัดเจน ทั้งที่ กกต. ไม่ควรรณรงค์เด็ดขาด

วันนี้ (9 มิ.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในวันสถาปนาสำนักงาน กกต. ครบรอบ 18 ปี เรื่อง “เหลียวประชามติสากล แลประชามติไทย” โดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวตอนหนึ่ง ว่า ขณะนี้มาตรา 61 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 กำลังตกเป็นจำเลยของสังคม มีการกล่าวหากันว่าใครเป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่ตนยืนยันว่า มาตรา 61 วรรคสอง เป็นของดี ต้องถามว่าขณะนี้เราต้องการให้สังคมเอาเรื่องเท็จมาหลอกกัน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจลงประชามติบนความรู้พื้นฐานที่ผิดหรือไม่ หรือต้องการให้ใช้คำหยาบคาย รุนแรงต่อกันเช่นนั้นหรือไม่ รวมทั้งต้องการให้เกิดการปลุกระดมไม่เคารพกฎหมายออกมาเดินขบวนเผาบ้านเผาเมืองอย่างนั้นหรือไม่ ทั้งที่เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างเพื่อเป็นการปรามเหตุการณ์เหล่านี้ไว้เท่านั้น

ทั้งนี้ บรรยากาศขณะนี้ไม่ได้น่ากลัว อย่าดราม่ากันไปเอง สังคมดราม่ามากเกินไปหรือไม่ เพลง 7 ส.ค. ประชามติ ที่เขียนก็ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝง เพียงแต่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เอะอะอะไรก็ว่าเป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพ โดนเข็มทิ่มเล็กน้อยก็ว่าแผลเหวอะหวะแล้ว สังคมหวาดระแวงจนเกินไป หากคิดเช่นนี้ก็จะไม่มีความสุข

ด้าน น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้เพลงประชามติของ กกต. นอกจากถูกวิจารณ์ว่าลำเอียง ส่วนตัวยังเห็นว่าเนื้อความของเพลงในช่วงที่ร้องถึงภาคกลาง บางประโยคเหมือน กกต. จะเชิดชูร่างรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้คนมองว่า กกต. กำลังสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามหลักสากล กกต. จะไม่มาร่วมรณรงค์อย่างเด็ดขาด จึงขอฝากให้ กกต. พิจารณา

อีกกรณี คือ หลังประชามติ มาตรา 265 ของร่างรัฐธรรมนูญ ระบุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นมาใหม่ตามรัฐธรรมนูญเข้ามาทำหน้าที่ นั่นคือ คำสั่งของ คสช. และรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่มีมาตรา 44 ก็ยังมีผลควบคู่ เราจะมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับร่วมกัน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 จะมีผลบังคับใช้อาจจะปลายปี 2560 หมายความว่า ผลของการตัดสินใจประชาชนในวันที่ 7 ส.ค. จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที

ส่วนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็น่าสนใจ เพราะเห็นด้วยว่ามาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ. ประชามติฯ มีปัญหา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังว่า บรรยากาศจะสดใสกว่านี้ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศที่น่ากังวลคือ นักการเมืองยังถูกเรียกเข้าค่ายทหาร อย่างวันที่ 18 มิ.ย. นี้ ที่ กกต. เป็นเจ้าภาพในการประชุมกับตัวแทนพรรคการเมือง ที่จะจัดขึ้นในค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปี 2550 เราทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับครั้งแรก รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 มีกติกาอยู่ว่า ถ้าผ่านก็ให้บังคับใช้ ถ้าไม่ผ่านให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดมาประกาศใช้เลย ทำให้อย่างน้อยประชาชนยังรู้ ไม่ใช่กลับมาร่างใหม่ แต่ขณะนี้คำถามคือ คสช. คิดอย่างไรที่ให้มีการทำประชามติ และหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น นี่เป็นข้อบกพร่องรุนแรงที่สุดในการทำประชามติครั้งนี้

ทั้งนี้ บทความต่างประเทศจะเรียกการทำประชามติ 7 ส.ค. ว่า ทางเลือกของฮอบส์สัน คือ ถ้าถูกใจก็รับไป ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น บรรยากาศตอนนี้คือความมืดดำ ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งจะมีผลต่อความชอบธรรมและความยั่งยืนของร่างรัฐธรรมนูญนี้ การทำประชามติที่ดี คือ ต้องเป็นธรรม รู้ว่าทางเลือกมีอะไรบ้าง ต้องมีเสรีภาพ ประธาน กกต. อาจทำให้เกิดเสรีภาพในคูหาได้ แต่กระบวนการก่อนลงประชามติ ประชาชนจะมีสิทธิพูดได้มากแค่ไหน หากจะให้เป็นประชามติที่สมบูรณ์ ต้องให้สองข้างแสดงความเห็นตามสมควร

นายปริญญา ยังเห็นว่า คำว่าปลุกระดม ในมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ. ประชามติ คลุมเครือที่สุดในการตีความ กติกาในมาตรานี้ทำให้การออกเสียงประชามติกระทบต่อหลักเสรีภาพ ถ้าไม่แก้ไขก็ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ

“คำว่า ปลุกระดมไม่ควรจะมีอยู่ในกฎหมายนี้ เนื่องจากมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว คำหลายคำของมาตรา 61 วรรคสองนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ อยากให้ตีความตามมาตรานี้บนเสรีภาพที่ประชาชนมีอำนาจตามอธิปไตย ตีความให้แคบที่สุด อย่าไปตีความกว้าง ถ้าไม่มีการแก้ไขเรื่องพวกนี้ ที่ให้มีความเสรีและเป็นธรรม อย่างไรก็ไม่ยั่งยืน ในอนาคตข้างหน้าจะมีการร่างใหม่เหมือนปี 2534 คสช. ต้องการหรือไม่ คสช. ถลำลึกกับการมีส่วนว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ ผ่านมากไปแล้ว อยากให้ถอยออกมา ยอมรับผลการตัดสินจากประชาชน ส่วนคำถามพ่วง ความจริงแค่ตั้งคำถามให้ชัด คือ จะให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. หรือไม่ แบบนี้ถึงจะเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินน่าจะส่งประเด็นคำถามพ่วงให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วย” นายปริญญา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น