xs
xsm
sm
md
lg

24 ปี พฤษภาทมิฬ ซัดร่าง รธน. “มีชัย” ถอยหลังลงคลอง-ย้อนกลับไปยุคปี 2534

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เสวนาครบรอบ 24 ปี พฤษภาประชาธรรม “โภคิน” ชี้ร่างรัฐรรมนูญฉบับ “มีชัย” สิทธิเสรีภาพประชาชนหายไป แนะเปิดให้ทุกฝ่ายได้พูด ใช้กฎหมายปกติจัดการกับคนที่หมิ่นประมาทแทน “อภิสิทธิ์” ซัดถอยหลังลงคลอง ทำให้ระบบราชการกลายเป็นผู้ชี้นำประเทศ ทำลายผลพวงการต่อสู้ของประชาชน แนะยุติความคิดการประท้วงคือปัญหา และปรองดองประชาชนที่แค่มาชุมนุม “ปริญญา” ชี้ถอยกลับไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 คสช. มีส่วนได้เสีย แนะถ้าแบบนั้นทำไมไม่ต้องทำประชามติไปเลย

วันนี้ (17 พ.ค.) ที่ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีการปาฐกถาในหัวข้อ “ความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ นิติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรัฐธรรมนูญ” โดยมีผู้ร่วมปาฐกถา คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 24 ปี พฤษภาประชาธรรม

โดย นายโภคิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยเริ่มต้นมีเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่ 2 มาตรา โดยมีพัฒนาการเรื่องสิทธิเสรีภาพดีขึ้นเรื่อยๆ และสอดคล้องกับปฏิญญาสากลฯ มาโดยตลอด ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เพิ่มหลักประกันการจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ จนมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ถือว่ามีหมวดสิทธิเสรีภาพดีที่สุด ยาวที่สุด จัดแบ่งไว้ละเอียด แม้จะมาจากเผด็จการก็ตาม

ส่วนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนใหม่เพิ่มหน้าที่ของรัฐ ต่างจากที่ผ่านมาที่เขียนเป็นระบบ แต่ร่างนี้เขียนปนไปมา การบอกว่าหากรัฐไม่ทำหน้าที่สามารถฟ้องได้ จะเป็นปัญหาว่ารัฐคือใคร เพราะรัฐไม่เป็นนิติบุคคลฟ้องไม่ได้ อีกทั้งที่บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่เสรีภาพในการร้องเรียนของภาคประชาชนกลับหายไป

ส่วนประเด็นการทำประชามตินั้น ถ้าต้องการให้มีการทำประชามติต่อไป แต่ห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีก็จะยุ่งวุ่นวาย ในขณะที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยถูกต้อง จูงใจไม่เป็นไร แต่ในส่วนประชาชนดูหมิ่น หรือใช้คำหยาบคายต่อตัวร่างรัฐธรรมนูญจะผิดหรือไม่ ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กลับพบว่า สิทธิเสรีภาพประชาชนหายไป แต่สร้างความเข้มแข็งเรื่องการตรวจสอบให้กับองค์กรอิสระ โดยลืมการตรวจสอบจากภาคประชาชน ซึ่งหากต้องการจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูดถึงรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี เพราะทุกวันนี้มีอยู่ฝ่ายเดียวที่สามารถพูดถึงรัฐธรรมนูญได้ เพียงเพราะอ้างว่าเป็นหน่วยงานที่ต้องชี้แจง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ประหลาด จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องอย่ากลัวการพูด และควรใช้กฎหมายปกติจัดการกับคนที่หมิ่นประมาทแทน” นายโภคิน กล่าว

ด้าน นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า การต่อสู้ของประชาชนจำนวนมากในปี 2535 แสดงออกถึงการหวงแหนสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องการมีส่วนร่วมในทางการเมือง เป็นการรวมตัวของคนทุกวัย ผลพวงที่ตามมาทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย ซึ่งก่อนปี 2535 ประชาธิปไตยเบ่งบานระยะสั้น เนื่องจากส่วนใหญ่มีรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ปี 2535 แสดงออกถึงการไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ จึงนำมาสู่การเขียนรัฐธรรมนูญว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

อีกทั้งการต่อสู้ในขณะนั้นมีผลให้หมวดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดองค์กรอิสระขึ้นช่วยดูแลสิทธิเสรีภาพ นอกจากนั้น ยังมีการปฏิรูปบทบาทของสื่อมวลชน จากที่เหตุการณ์ในปี 2535 ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาสถานีโทรทัศน์ได้เพราะถูกรัฐควบคุมโดยสิ้นเชิง จึงมีการเขียนรัฐธรรมนูญให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะในเวลาต่อมา ความเปลี่ยนแปลงที่ได้จากการต่อสู้ทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักนิติธรรมมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ย้อนถอยไปก่อนปี 2535 ทำให้ระบบราชการกลายเป็นผู้ชี้นำประเทศ สร้างวาทกรรมให้ประชาชนต้องเสียสละ จะทำลายผลพวงการต่อสู้ของประชาชน ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ประเทศไทยไม่ควรใช้รัฐธรรมนูญที่ถดถอยเรื่องสิทธิเสรีภาพ ต้องตระหนักว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ สิทธิเสรีภาพควรจะเป็นหัวใจของการจัดทำรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามตินั้นไม่มีเหตุผลที่จะทำประชามติ ถ้าไม่สามารถรณรงค์ได้ การให้ทำประชามติภายใต้ความไม่แน่นอน ความหวาดกลัวว่าจะผิด พ.ร.บ. ประชามติหรือไม่ ก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องยืนยันว่าจะไม่ตีความคำว่าปลุกระดมเกินจริง หากไม่ผิดเงื่อนไขอื่นย่อมสามารถทำได้

2. ผู้มีอำนาจต้องยุติความคิดว่าปัญหามาจากการชุมนุมประท้วง หากไม่มีการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมา บ้านเมืองเราจะถดถอยมากกว่านี้จากการใช้อำนาจโดยมิชอบ และการทุจริตคอร์รัปชัน และควรเลิกเผยแพร่ความคิดว่าการประท้วง คือ การสร้างความเสียหาย ถ้าประชาชนทำโดยสุจริต และ 3. การปรองดอง การเคารพประชาชนต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่มาชุมนุมโดยสุจริต เพราะการออกมาใช้สิทธิไม่เป็นความผิด ส่วนการกระทำความผิดอื่นให้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์จนถึงที่สุด แล้วค่อยพิจารณาว่าสมควรหรือไม่ที่จะมีมาตรการพิเศษใด ๆ เพื่อความปรองดอง ทั้งหมดจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน และสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง

ขณะที่ นายปริญญา กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีระบบในการประกันสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นการถอยกลับไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 การไม่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ถือเป็นความต้องการของรัฐบาลให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ อีกทั้งคำถามพ่วงในการทำประชามติที่ให้ ส.ว. 250 คน ซึ่งแต่งตั้งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีได้นั้น เปรียบเสมือนคือการเลือกพรรค ส.ว. ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. แสดงให้เห็นว่า คสช. เป็นผู้มีส่วนได้เสีย

ขณะที่ฝั่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญและชี้แจงคำถามพ่วงได้ แต่ประชาชนกลับแสดงออกไม่ได้ เท่ากับว่า คสช. ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จึงอยากย้อนถามว่า หากเป็นเช่นนั้น ทำไมไม่ประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ต้องทำประชามติ เพราะเมื่อต้องการทำประชามติ ประชาชนก็ควรจะได้แสดงออกอย่างเต็มที่ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งตนเกรงว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นไปเช่นนี้ ถึงแม้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน แต่ก็อาจมีจุดจบเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่สุดท้ายก็ต้องไปเริ่มร่างกันใหม่ทั้งฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น