xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ขอ 3 ชม.แจงสาระสำคัญ รธน.อาสาฯ เชื่อทำให้ ปชช.เข้าใจ ค้าน ตปท.จุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กรธ.เผยคุยรองประธาน สนช.อบรมอาสาฯ เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ขอ 3 ชั่วโมงแจงสาระสำคัญ ไม่กังวลแม้จะมาจากแม่น้ำคนละสาย เหตุอาสาฯ แต่ละคนมีพื้นฐานอยู่แล้ว เชื่อทำให้ ปชช.รู้ออกเสียงเรื่องอะไร ย้ำรัฐธรรมนูญเรื่องภายใน ต่างชาติไม่เกี่ยว

วันนี้ (4 พ.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาแผนการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ

นายมีชัยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมถึงกรณีที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เข้าพบเมื่อช่วง 12.00 น.ว่า นายสุรชัยได้เข้ามาเล่าถึงการจัดเวทีของ สนช.ที่จะอบรมอาสาสมัครเผยแพร่คำถามพ่วงรัฐธรรมนูญที่ได้อาสาสมัครจาก สนช. 127 คนและจาก สปท.40 คน จะจัดการอบรมในวันที่ 13 พ.ค. ตนทราบว่าการชี้แจงคำถามพ่วงจะมีอาสาสมัครประจำอยู่ทุกจังหวัด มากกว่าการจัดกลุ่มเป็น 9 กลุ่มของ กรธ. ดังนั้น ในการอบรมตนได้ขอเวลา 3 ชั่วโมงเพื่ออธิบายสาระสำคัญและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พร้อมกับขอให้อาสาสมัครนำไปเผยแพร่ระหว่างการลงพื้นที่ ซึ่งเดิมจะชี้แจงเฉพาะคำถามพ่วงเท่านั้น ดังนั้นอาสาสมัครดังกล่าวจะถือเป็นเครือข่ายของ กรธ.เช่นกัน โดยอาสาสมัครที่เพิ่มเข้ามานั้นมีฐานความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะมีแนวทางชี้แจงที่เป็นไปตามเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแต่จะการพูดของอาสาสมัครจะเป็นภาษาชาวบ้านเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล แม้ว่าอาสาสมัครจาก สนช.และ สปท.อาจมีทัศนคติต่างกันในเรื่องรัฐธรรมนูญ

“อาสาสมัครที่มาจาก สนช. และ สปท.แม้จะจำนวนไม่เยอะ แต่ผู้ที่อาสาถือเป็นคนคุ้นเคยในพื้นที่และลงพื้นที่อยู่เป็นประจำและด้วยพื้นฐานความรู้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว ถือเป็นจุดสำคัญที่ช่วยได้ อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีเวลาน้อย คงไม่สามารถอธิบายรายละเอียดในร่างฯ ทั้งหมด 279 มาตราได้ แต่การอธิบายเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนรู้ว่าจะไปออกเสียงเรื่องอะไร คงไม่ใช่บอกให้ประชาชนโหวตรับหรือไม่รับ แต่การออกไปใช้สิทธิถือเป็นเรื่องประโยชน์ของประเทศตามที่กองทัพไทยทำป้ายรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิ”

เมื่อถามว่า มองอย่างไรต่อประเด็นที่องค์กรต่างชาติจะข้าวของสังเกตการณ์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของบ้านเรา คงไม่ต้องเชิญต่างชาติเข้ามา เพราะตอนที่ต่างชาติเขาเลือกตั้งเขายังไม่เชิญเราไปดู ส่วนองค์กรต่างชาติจะร้องขอเข้ามาสังเกตการณ์ หากอยากมาก็มาในลักษณะของนักท่องเที่ยว ส่วนตัวมองว่าการทำประชามติเหมือนกับคนในครอบครัวจะคุยกัน หากมีมีคนอื่นนั่งอยู่ด้วยคงไม่สะดวก หรือเหมือนกับสื่อประชุมเพื่อเขียนบทบรรณาธิการ หากมีคนอื่นอยู่ก็คงลำบากใจ หรือเหมือนคนกำลังจะปูผ้านอนแล้วมีคนอยู่ด้วยก็คงไม่ดี






กำลังโหลดความคิดเห็น