xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” โยน สนช.-สปท.แจงคำถามพ่วงเอง มั่นใจมีกลไกสกัด ส.ว.ทำตามอำเภอใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แจงทำหน้าที่แค่ชี้แจงสาระ ส่วนคำถามพ่วงเป็นหน้าที่ สนช. ต้องไปชี้แจง หากผ่านค่อยส่งศาล รธน. ดูเนื้อหาหลังผนวกรวม เล็งประสานแม่น้ำสองสายไปช่วยอธิบาย เผยมีกลไกป้องกัน ส.ว. ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

วันนี้ (15 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกระแสการวิจารณ์คำถามพ่วงการทำประชามติ ที่กำหนดให้ในบทเฉพาะกาล ในเรื่องการให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเวลา 5 ปีแรก ที่จะทำให้ประชาชนสับสนและส่งผลกระทบต่อร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กรธ.มีหน้าที่จะต้องชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญให้ขัดเจน ส่วนคำถามพ่วง เป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะไปชี้แจงถึงเหตุผล ดังนั้น เวลาไปชี้แจงประชาชนจะต้องบอกว่ามี 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ และ อีกส่วนคือคำถามพ่วง หากรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เนื้อหาของคำถามพ่วงก็จะผนวกเข้าไปในรัฐธรรมนูญในภายหลัง ทั้งนี้ ในการออกไปเผยแพร่ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องประสานกับ สนช. และอาจจะรวมถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เป็นเจ้าของคำถามเพื่อเปิดโอกาสให้ออกไปชี้แจงกับประชาชนพร้อมๆ กับ กรธ. เมื่อประชาชนสงสัยถามมาเขาก็จะได้ตอบได้

เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและคำถามพ่วงผ่าน กรธ.จะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบหลักการสำคัญในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า ถ้าคำถามพ่วงผ่าน รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้กำหนดกระบวนการแก้ไขเอาไว้ค่อนข้างจะรัดกุม กรธ.ไม่ได้มีอิสระในการนำคำถามพ่วงไปผนวกในรัฐธรรมนูญอย่างที่ใจต้องการได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามผลประชามติ ที่ออกมา แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคนดูอีกทีว่า ถูกต้องตรงตามประชามติหรือไม่ ถ้าไม่ถูกก็ต้องแก้ให้ตรง แต่ถ้าถูกต้องถึงจะใช้ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเอามาผนวก กรธ.จะทำตามประชามติโดยตรง จะไม่ไปคิดอะไรวอกแวก แล้วที่จะแก้คือการแก้ให้สอดคล้องกับผลของประชามติเท่านั้น

เมื่อถามย้ำว่า หลายฝ่ายวิจารณ์ถึงผลของปัญหาคำถามพ่วงอาจจะก่อให้เกิดความลักลั่นทางการเมือง เช่น การเลือกนายกฯ หรือการใช้อำนาจต่างๆ นายมีชัยกล่าวว่า ถ้าคำถามพ่วงผ่านประชามติ ในเวลาปฏิบัติจริง ๆ วุฒิสภา ก็ต้องใช้วิจารณญาณในการใช้ออกเสียง ให้การเมืองมันเดินไปได้โดยราบรื่น ไม่ใช่อาศัยแต่เสียงวุฒิสภาแต่เพียงสภาเดียว แล้วไปผนวกสภาผู้แทนราษฎร อีกเล็กน้อย แบบนั้นมันจะทำการบริหารงานของรัฐบาลเป็นไปไม่ได้ จะเกิดปัญหาเพราะฉะนั้น เราก็ต้องวางใจว่าถ้าสมมติมันผ่านก็ต้องวางใจว่าวุฒิสภาจะต้องใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนที่จะไปใช้สิทธิในการลงคะแนนแบบนั้น

เมื่อถามว่า หากมองอีกมุม ส.ว.ไปผนึกเสียงข้างมากก็จะเป็นว่ามีฝ่ายรัฐบาลที่เด็ดขาดการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้านก็จะลำบากขึ้น นายมีชัยกล่าวว่า จะเป็นไปตามสภาวะการเมืองปกติ คือ รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะเป็นรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้นในรัฐธรรมนูญนี้จึงได้เขียนกลไกบางอย่างเอาไว้ว่า ให้ฝ่ายค้านมีส่วนในการที่จะแนะนำหรือชี้แนะ และในกรณีที่เกิดปัญหาของบ้านเมือง เวลาที่จะประชุมปรึกษาหรือหารือกัน ก็จะมากันทั้งหมดทุกองคาพยพในทางการเมือง ขณะเดียวกัน เวลาจะแก้รัฐธรรมนูญ เราจึงผนวกไว้ว่า ลำพังเสียงข้างมากอย่างเดียวแก้ไม่ได้ ต้องเป็นการเห็นดีเห็นงามกันว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนจึงจะแก้ได้ เพราะเราต้องการเสียงของฝ่ายค้าน วุฒิสภาและเสียงข้างมากของฝ่าย ส.ส.ด้วย ตรงนี้จะเห็นว่ากลไกที่วางไว้จะทำหน้าที่ของมันได้ ป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

เมื่อถามว่า ในช่วงของการไปทำความเข้าใจ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องไปทำความเข้าใจกับพรรคการเมืองที่ออกมาคัดค้านอีกหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เรายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร พรรคการเมืองเขาก็มีเป้าหมายและมีทิศทางของเขา เราจะเข้าไปยุ่งมากก็คงไม่ได้ นอกจากอะไรที่เขาพูดมาชัดเจน แล้วเราคิดว่าเป็นการเข้าใจผิด หรือ กระโดดข้ามบางมาตราไป เราก็อาจไปชี้แจงได้ แต่ถ้าเขาพูดลอยๆ ว่าล้าหลัง หรือไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ไม่รู้จะแก้อย่างไรตรงไหน เพราะเราก็ว่าของเราไม่ล้าหลังและไปไกลเกินกว่าที่คนจะคิดด้วยซ้ำ แต่บางทีบางเรื่อง มันก็อาจยังมองไม่เห็นประโยชน์ อย่างในอดีตมีหลายคนไม่เห็นด้วย มองว่าล้าหลัง แต่มาปัจจุบันกลับกลายเป็นของที่ต้องมี ไม่มีไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น