xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” ย้ำ สปท.น้อมรับคำวิจารณ์ เชื่อญัตติ “วันชัย” ห่วงชาติ ขออย่าป้ายสี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อลงกรณ์ พลบุตร  รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สปท.เผย สปท.น้อมรับคำวิจารณ์เสนอคำถาม แจงทำตาม รธน. ขออย่ากล่าวหาใส่ร้ายกัน เชื่อญัตติ “วันชัย” ห่วงอนาคตชาติมองมิติป้องกันวิกฤตชาติไม่เกี่ยวการเมือง-ผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง รับ สปท.จะส่งผู้เสนอญัตติชี้แจงตามที่ สนช.ขอความร่วมมือต้นสัปดาห์นี้ เป็นสิทธิ์ขาดของ สนช.

วันนี้ (3 เม.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวว่า ตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเสนอคำถามของ สปท.ที่ส่งให้ สนช.นั้น สปท.ยินดีน้อมรับทุกคำวิพากษ์วิจารณ์ และขอให้เข้าใจว่า สปท.ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ญัตติคำถามของสปท.ที่ผ่านการลงมติเมื่อวันที่ 1 เม.ย.นั้น มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนญัตติที่เสนอว่า “ในระยะ 5 ปีแรก นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ นี้ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา” ก็ต้องถือเป็นมติของ สปท. และเป็นเพียงหนึ่งในหลายคำถามและความเห็นที่ สนช.เปิดกว้างรับฟังจากทุกภาคีภาคส่วนเพื่อนำไปพิจารณาก่อนมีมติสุดท้ายในการประชุม สนช.วันที่ 7 เม.ย. และยังไม่แน่ว่า สนช.จะตั้งคำถามพ่วงรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นว่าควรตั้งคำถามก็ไม่จำเป็นต้องเห็นตาม สปท.เพราะสิทธิ์ขาดอยู่ที่ สนช. สำหรับคำถามของ สปท.ได้ส่งให้ สนช.ไปแล้วและจะส่งผู้แทนของ สปท.ไปชี้แจงต่อคณะกรรมการพิจารณาความเห็นของ สนช.ในวันที่ 4 หรือ 5 เม.ย. โดยถือปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้เสนอคนอื่นๆ

“เท่าที่ฟังเหตุผลของผู้เสนอและผู้สนับสนุนญัตตินั้น ไม่มีใครไม่สนับสนุนประชาธิปไตย เพียงแต่ต้องการให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีที่ให้มีวุฒิสภาทำหน้าที่ประคับประคองให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าด้วยความสงบเรียบร้อย ดูแลการปฏิรูปประเทศและป้องกันวิกฤตชาติมิให้เกิดซ้ำรอยเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการทำหน้าที่รัฐสภาร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาจมีเพิ่มเรื่องการมีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีตามญัตติของคุณวันชัยก็เป็นระยะเปลี่ยนผ่านชั่วคราว แต่ทั้งนี้ก็ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อของพรรคการเมืองเท่านั้น เว้นแต่รายชื่อที่พรรคการเมืองใหญ่เสนอเกิดล้มหายตายจากไปพร้อมกันจนไม่มีชื่อในบัญชีที่จะเสนอ หรือเกิดวิกฤตพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรตกลงกันไม่ได้ ถึงทางตัน รัฐธรรมนูญก็เขียนทางออกให้รัฐสภาใช้เสียง 2 ใน 3 คืออย่างน้อยต้องมีวุฒิสภาทุกคนและ ส.ส.ครึ่งสภาจะขาดคนเดียวก็ไม่ได้จึงจะสามารถยกเว้นให้เลือกนายกรัฐมนตรีจากชื่อนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ตนเห็นว่าในทางเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เขียนไปก็เท่านั้นเพราะพรรคการเมืองใหญ่มีชื่อนายกรัฐมนตรีพรรคละ 1-3 ชื่อที่พร้อมจะเสนอให้รัฐสภาเลือกหลังการเลือกตั้งครั้งแรก ดังนั้นโอกาสคนนอกที่จะได้รับเสนอชื่อจึงเป็นไปไม่ได้ในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีตามญัตติคำถามของคุณวันชัยและคณะ” นายอลงกรณ์กล่าว

นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผู้เสนอญัตติและคณะยังไม่ได้คิดเห็นเป็นเรื่องการเมืองหรือผลประโยชน์ส่วนตนโดยระบุในเหตุผลของการเสนอญัตติว่า “...เมื่อพิจารณาจากร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำมาแล้วเห็นว่ายังมีปัญหาต่อการนำไปบังคับใช้อันไม่อาจแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศได้...” ซึ่งสะท้อนถึงความห่วงกังวลต่ออนาคตของประเทศเหมือนหลายๆ ท่านที่ยังไม่แน่ใจว่าหลังการเลือกตั้งจะเกิดปัญหาทางการเมืองจนนำไปสู่วิกฤตของชาติบ้านเมืองอีกหรือไม่ ดังเช่นที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงขอให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องปกติ จะให้คิดเหมือนกันหมดคงไม่ได้ และต้องเคารพการแสดงความเห็นที่แตกต่าง และสู้กันด้วยข้อมูลและเหตุผล อย่าใช้วิธีกล่าวหาทำลายหรือใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นที่เห็นต่าง มิเช่นนั้นจะถือเป็นนักประชาธิปไตยได้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น