xs
xsm
sm
md
lg

แนะจับตาร่างรธน.5ประเด็นสำคัญ ห่วงคสช.ยัดไส้นาทีสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะเสร็จเรียบร้อย และส่งมอบให้รัฐบาลในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ว่า คงต้องติดตามดูว่าจะมีการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอน อะไรมากน้อยแค่ไหน จากร่างเดิม โดยเฉพาะบทเฉพาะกาล เนื่องจากยังมีแนวคิดจาก สปท. บางคน ที่ต้องการให้เพิ่มอำนาจ หน้าที่ส.ว. ให้มีสิทธิลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ บางส่วนก็ยังมีความประสงค์ให้ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ตนหวังว่าจะไม่มีใบสั่งส่งมาในวันสุดท้าย ก่อนจะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้รัฐบาล ส่วนใน บทบาทถาวรนั้น คงต้องติดตามดูเช่นกันว่า ได้ปรับปรุงแก้ไข ตามข้อเรียกร้องของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ในเนื้อหาสาระสำคัญ หรือแก้ไขเพียงถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามดูอย่างรอบคอบว่า ปรับปรุงแก้ไขมากน้อยแค่ไหน มีอยู่ 5 ประเด็น สำคัญคือ
1. เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ครอบคลุมทุกบริบทหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร
2. ระบบตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ เข้มขึ้นเพียงพอ ที่จะยับยั้งการกระทำที่มิชอบของฝ่ายบริหารหรือไม่
3. การออกแบกลไกป้องกันการใช้อำนาจ หน้าที่ โดยมิชอบ และการแสวงหาประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง ของฝ่ายบริหาร
4. การสร้างดุลยภาพของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ องค์กรอิสระ และศาลเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่
5. วางรากฐานการปฏิรูป เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงจังมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ส่วนจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในเรื่องการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน การกลั่นกรองการเข้าสู่อำนาจอย่างเข้มข้น การใช้อำนาจเพื่อทุจริตลำบากมากขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบอำนาจจากหลายรูปแบบ ผ่านองค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรมต่างๆ มีการเพิ่มเติมอะไรเข้มขั้นขึ้นหรือไม่
"อยากให้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนติดตามเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในบทถาวร และบทเฉพาะกาล ว่าปรับปรุงแก้ไขเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคล คณะบุคคล ใดบุคคลหนึ่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการออกเสียงประชามติได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป"
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์เผยแพร่ถึงมือประชาชนเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะได้พิจารณากันว่าจะออกเสียงประชามติ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ซึ่งแน่นอนที่สุด การออกเสียงประชามติ ย่อมมีผู้เห็นชอบ และไม่เห็นชอบแตกต่างกันออกไป จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่าย แสดงความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ทรงมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข และพึงตระหนักร่วมกันว่าผลการออกเสียงประชามติไม่ว่าจะออกมาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ผลการแข่งขัน ที่ต้องมีแพ้ชนะ
"เราไม่ควรมีผู้แพ้ หรือ ผู้ชนะ จากการออกเสียงประชามติ แต่เราคนไทยควรเป็นผู้ชนะร่วมกันที่ช่วยกันทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป ด้วยความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่เราร่วมกันได้ในที่สุด" นายองอาจ กล่าว

** จับตาคำถามพ่วงให้ส.ว.เลือกนายกฯ

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงภาพรวม ร่างรธน. ว่า ตอบโจทย์ประชนชนได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่เป็นตามคาดหวังมากเท่าไร เวลาปฏิบัติจริง จะไม่มีประสิทธิภาพ การออกกฎหมายว่า ต้องปฏิรูปป้องกันทุจริต ไม่ได้แปลว่า การทุจริตจะหมดไป ตนไม่ค่อยมั่นใจว่าจะได้ผล คำปราบโกง เป็นวาทกรรมโฆษณาว่า เป็นจุดแข็งรัฐธรรมนูญ แต่ตนไม่เห็นว่ามันจะมีการปราบโกงได้อย่างไร ส่วนใหญ่มีมานานแล้ว แต่เราไม่นำกฎหมายนั้นมาโฆษณา คราวนี้ดังขึ้นมา เพราะประชาสัมพันธ์ฝ่ายเดียว สื่ออยู่ในมือ กรธ.กับรัฐฝ่ายเดียว จะพูดอย่างไรก็ได้ กลัว อย่างเดียวคือปัญหาเมื่อเลือกตั้งแล้ว ปัญหาต่างๆ จะกลับคืนมา พอเกิดมาแล้วไม่รู้จะแก้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญนี้ เกือบแก้ไม่ได้เลย
นายนิพิฏฐ์ ยังกล่าวถึงกรณี นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. เตรียมเสนอคำถามควบคู่ไปกับการทำประชามติ ในที่ประชุมใหญ่สปท. ให้ ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้นั้น ตนมองว่าคนพวกนี้เป็นพวกที่ต้องการได้อำนาจมาฟรีๆ เป็นความอยากไม่มีสิ้นสุด ได้แล้วต้องได้อีก เขาเข้าทางประตูกัน แต่คนเหล่านี้ปีนหน้าต่างเข้ามา แต่กลับอยากได้อำนาจมากกว่าคนที่มาทางประตู ทำลายความน่าเชื่อถือระบอบประชาธิปไตย เอาแต่ด่าคนในบ้าน แต่ตนเองกลับปีนหลังคาเข้ามา เขาเขียนให้คุณเป็นยาม นั่งเฝ้าประตูด้านนอก ก็เยอะมากแล้ว จะเป็นตำรวจจับโจร จะต้องลงสมัครแข่งขันเข้ามา แน่นอนถ้าถามพ่วงไปด้วย กระทบประชามติแน่ ซึ่งเป็นอำนาจของเขา ที่จะเสนอ แต่ถามว่าที่พ่วงคำถามนี้ไป ประชาชนได้อะไร นอกจากพวกส.ว.ที่ได้ประโยชน์ เพราะต้องการมีอำนาจเพิ่ม
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 กล่าวถึงการประชุมชี้แจงของกรธ. ต่อที่ประชุมสปท. ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ว่า เท่าที่ทราบ สปท. จะมีการซักถามหลายประเด็น เช่น เรื่องระบบการเลือกตั้ง ระบบถ่วงดุล ตรวจสอบในระบบรัฐสภา การบริหารราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น รวมทั้งการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่จำเป็นต่อการปฏิรูป รวมทั้งอาจมีประเด็น เกี่ยวกับคำถามประกอบการออกเสียงประชามติ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น