xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ รธน.วาระแรก สมาชิกติงเครื่องโหวตพร้อมใช้แล้วหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... “วิษณุ” แจงเพื่อให้สอดคล้องกันกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไข ให้อำนาจ กกต.แก้ปัญหาหากจัดออกเสียงประชามติไม่สามารถดำเนินตามหลักเกณฑ์ได้ คาดโหวตได้ ส.ค.นี้ ด้านสมาชิกติงคำว่า “รณรงค์” อาจถูกตีความผิด เตือนใช้เครื่องลงคะแนน ส่อสร้างความเสียหาย ถามพร้อมแล้วหรือไม่ แนะใช้ระดับท้องถิ่นก่อน ก่อนมีมติเห็นชอบ 153 เสียง งดออกเสียง 5 พร้อมตั้ง กมธ.วิสามัญ 21 คน

วันนี้ (18 มี.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เป็นผลสืบเนื่องจากที่ประชุม สนช.ได้เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ประเด็นการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องเสนอกฎหมายฉบับนี้ให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงหลักเกณฑ์การออกเสียงและการนับคะแนน ขณะเดียวกันหากระหว่างการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ มีเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ได้ กฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจากการหารือกับ กกต. คาดว่าจะสามารถจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในช่วงต้นเดือน ส.ค.

ทั้งนี้ สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุนเพราะจะเป็นกระบวนการที่รัฐธรรมนูญจะใช้ต่อไป มีความชอบธรรมจากเสียงประชาชน แต่มีบางประเด็นที่มีความเป็นห่วงและควรมีการปรับถ้อยคำให้เหมาะสม เช่น ประเด็นสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งคำว่า “รณรงค์” อาจทำให้ประชาชนตีความหมายผิดไป รวมถึงการใช้เครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์มาทดลองใช้ในการออกเสียงเสียงประชามติ ที่อาจจะสร้างความเสียหายผิดพลาด เนื่องจากเห็นว่าเป็นของใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรก และยังมีจำนวนน้อย จะมีความพร้อมต่อการใช้ลงประชามติในระดับประเทศหรือไม่ อาจก่อให้เกิดความสับสน ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาด และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมหาศาลในการนำเข้าและวางระบบ จึงเสนอให้ทดลองใช้เครื่องลงคะแนนในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อน เพื่อให้ประชาชนมีความคุ้นเคย และให้มหาวิทยาลัยของรัฐร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนในการผลิตเครื่องลงคะแนนขึ้นเอง จะทำให้สอดคล้องกับแนวนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพของประเทศ

พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ สมาชิก สนช.แสดงความเป็นห่วงในมาตรา 10 ที่กำหนดให้ กกต.จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่ายในเรื่องที่จัดทำประชามติ และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนสามารถดำเนินการจัดกิจกรรมในการรณรงค์เผยแพร่หลักเกณฑ์ วิธีการ กำหนดการในการจัดให้มีการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางและรูปแบบที่กกต.กำหนด ซึ่งต้องระวังว่าจะเป็นการแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่ายโดยฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ขณะนี้เราเน้นเรื่องการสร้างความปรองดอง ดังนั้น กกต.ต้องระวังให้ดี ต้องกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ ไว้ให้ชัดเจน เพราะ ถ้าไม่ชัดกกต.จะกลายเป็นผู้สร้างความขัดแย้ง และไม่เป็นไปตามที่สังคมอยากเห็นคือความสามัคคีปรองดอง

นายวิษณุกล่าวยอมรับว่า ครม.เสนอร่างนี้เข้ามาด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาที่เร่งรัด อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งเสร็จในเบื้องต้น จากนั้นภายใน 7 วัน ทาง กกต.ก็มีการจัดทำร่างดังกล่าวขึ้น คาดว่าเมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมปรากฏออกมา อาจทำให้ข้อมูลความรู้บางส่วนไม่ถูกต้อง และเมื่อส่งมายังคณะกรรมการกฤษฏีกาก็ทำการตรวจสอบรอบคอบได้ยาก ดังนั้นจึงเห็นว่ามีการผ่านไปก่อนแล้วแก้ไขปรับปรุงในชั้นกรรมาธิการจึงอาจจะพบสิ่งที่ไม่เหมาะสม โดยจะเอาแนวทางในที่ประชุมไปปรับปรุง

หลังเสร็จสิ้นการอภิปราย ที่ประชุม สนช.ได้ลงมติเห็นชอบในขั้นรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนนเสียง 153 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 21 คน ดำเนินการพิจารณาภายใน 20 วัน และแปรญัตติภายใน 5 วัน













กำลังโหลดความคิดเห็น