xs
xsm
sm
md
lg

สามผ่าน! สนช.เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 เปิดทางทำประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 192 เสียง มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เปิดทางทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนทูลเกล้าฯ และประกาศบังคับใช้ รองนายกฯ แจงของเก่าไม่สอดคล้องกัน เหตุทำไว้ก่อนร่างบวรศักดิ์ถูกคว่ำ ส่วนสมาชิกอภิปรายเห็นด้วย หนุนกลไกควบคุมช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ และหลักประกันให้มีเสถียรภาพ

วันนี้ (10 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 16/2559 โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีระเบียบวาระเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เสนอ โดยมีตัวแทนจากทาง คสช. คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม ในฐานะรองหัวหน้า คสช., นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ปรึกษา คสช. และตัวแทนจากรัฐบาลคือ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมว.สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจง

นายวิษณุ ชี้แจงหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการแก้ไขส่วนของการลงประชามติ เหตุผลเนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2557 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับแรกปี พ.ศ. 2558 นั้น อาจจะมีบทบัญญัติเหมาะสม ที่จะมีการทำประชามติในขณะนั้น แต่ปรากฏว่า ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญถูกตีตกในชั้นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งถ้าใช้บทบัญญัติเดิม ไม่สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการแก้เป็นครั้งที่สอง ซึ่งในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะแก้เพียงมาตรา 39/1 เพียงมาตราเดียว แต่เป็นการยกเลิกของเก่า และเพิ่มวรรคใหม่จำนวน 9 วรรค เพื่อทำให้ยืดยาวและละเอียดชัดเจน จนสามารถทำประชามติได้ราบรื่น

โดยมีการแก้ในหลายประเด็น คือ การยึดคะแนนเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ อายุของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ การแจกจ่ายและเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนโดยวิธีการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ให้ สนช. สามารถกำหนดประเด็นคำถามให้ประชาชนตัดสินใจพร้อมกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และให้ ครม. เสนอกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ โดยให้ทาง สนช. เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่า จะมีทั้งหมด 60 มาตรา โดยจะมีการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในวันอังคารนี้ ก่อนที่จะเสนอมายัง สนช. ต่อไป

การอภิปรายในวาระรับหลักการวาระแรก มีผู้อภิปรายทั้งสิ้น 13 คน โดยส่วนใหญ่ อภิปรายเห็นด้วยที่มีการปรับแก้หลักคะแนนเสียงประชามติให้ชัดเจน รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่มีการแก้ไข เช่น นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ชี้ว่า การกำหนดนับอายุผู้ออกเสียงอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี เป็นเรื่องดี แต่เพิ่มภาระให้ กกต. มากขึ้น ในการสำรวจผู้มีสิทธิ์ จึงเป็นห่วงเรื่องงบประมาณให้เพียงพอ รวมถึงเห็นว่าการเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญก่อนการออกเสียงประชามติ ควรยึดสาระตามกรอบในมาตรา 35 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

นอกจากนี้ สมาชิกยังอภิปรายสนับสนุนให้มีกลไกควบคุมช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในระยะเปลี่ยนผ่าน และไม่ได้มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่มองว่าทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น อาทิ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กล่าวว่า หากจะให้มี ส.ว. สรรหา ควรใช้ในลักษณะสภาประเด็นเล็กน้อย ไม่น่าสนใจว่าจะอยู่กี่ปี มีอำนาจมากน้อยแค่ไหน แต่ควรมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ให้สามารถแข่งกับโลกได้หรือไม่ อยากให้ประชาชนช่วยไตร่ตรองว่ารัฐธรรมนูญนี้จะมีความสำคัญในการจะปรับเปลี่ยนประเทศเราไปสู่การแข่งขันได้หรือไม่มากกว่า ขณะที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวสนับสนุนให้มีกลไกควบคุม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในระยะเปลี่ยนผ่าน

ด้าน นายสมชาย แสวงการ อภิปรายถึงกระบวนการที่ สนช. จะเตรียมพร้อมพิจารณา พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการประชามติ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการชี้แจงเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างถึงคนที่อยู่ต่างประเทศ ไปพูดที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โจมตีร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยวิธีโลกล้อมประเทศ เหมือนถูกดึงขาปลุกปั่นให้ชาวบ้านต่อต้านการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อหวังกลับมามีอำนาจ จึงมองว่าหลังการเลือกตั้งใหม่ต้องมีหลักประกันเพื่อให้เกิดเสถียรภาพ

หลังจากสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมได้ลงคะแนนตามลำดับและ มีมติเอกฉันท์ 194 เสียง รับหลักการวาระ 1 และ งดออกเสียง 3 เสียง จากนั้นได้มีการพิจารณาวาระ 2 โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาตามรายมาตรา และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 4 โดย ครม. และ คสช. ขอปรับแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 3 วรรค คือ ในวรรคเจ็ด การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยต้องกระทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ สนช. จะมีมติเสนอประเด็นอื่นใด ไม่เกิน 1 ประเด็น ที่สมควรให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องเสนอภายใน 10 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจาก กรธ. ตามวรรคสาม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้ สนช. รับฟังความเห็นของ สปท. ประกอบการพิจารณาด้วย

สำหรับวรรคเก้า ของมาตรา 39/1 ในมาตรา 4 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ “ถ้าผลการออกเสียงประชามติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

และในวรรคสิบสอง ให้นำมาตรา 39 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยอนุโลม และในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอประเด็นเพิ่มเติม ให้นำมาตรา 37/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากระหว่างคะแนนเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเป็นเกณฑ์ และไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของ กรธ. ซึ่งสมาชิกได้ลงมติเห็นชอบตามที่ คสช. และ ครม. เสนอ

หลังจากนั้น ได้มีการลงมติในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 192 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป













กำลังโหลดความคิดเห็น