เมืองไทย 360 องศา
ตามรูปการณ์แล้วก็มองเห็นภาพแบบนั้นจริงๆ ว่าระดับลูกเล่นหรือแท็กติกของฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นยังมีเหลืออีกมากมาย แต่ก็ค่อยๆทยอยปล่อยออกมาเรื่อยๆตามช่วงจังหวะเวลา เหมือนกับกรณีการจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานี้เพื่อเสนอแก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวกับการลงประชามติ โดยจะแก้ไขเป็นให้ยึดเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ แทนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
ข้อสรุปดังกล่าวเป็นผลมาจากการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย ตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายเป็นประธานที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อบ่ายวันที่ 10 กุมภาพันธ์
นั่นคือที่ประชุมมีข้อสรุปให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 57 เรื่องหลักเกณฑ์การประกาศผลประชามติโดยให้ยึดเสียงเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ นอกจากนี้ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือการมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปร่างหลักเกณฑ์การควบคุมความสงบเรียบร้อยในการลงประชามติ จากนั้นให้เสนอมายังรัฐบาลเพื่อพิจารณาว่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติหรือออกเป็นพระราชกำหนดหรทอใช้มาตรา 44
“ที่ประชุมเห็นว่าสามารถรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องไม่เป็นการหลอกลวง บิดเบือน ข่มขู่หรือต่อต้านให้เกิดความไม่สงบ โดยข้อเสนอทั้งหมดจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีภายใน 1-2 วันนี้จากนั้นจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาซึ่งกระบวนการพิจารณาทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน” ซึ่งวันลงประชามติกำหนดไว้คร่าวๆ คือวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 หรือบวกลบไม่เกิน 7 วัน
นั่นเป็นคำพูดของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็น “กุนซือ” คนสำคัญ ซึ่งหากเขาพูดก็ย่อมหมายถึงคำพูดและคิดแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั่นแหละ และยังเป็นการกำหนดวันเวลาในการลงประชามติที่ชัดเจนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง
แน่นอนว่าเมื่อมีความเคลื่อนไหวชัดเจนแล้วว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 เรื่องการลงประชามติที่ใช้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ แบบนี้มันก็มีแนวโน้มสูงว่าจะชนะผ่านแบบแบเบอร์ได้อยู่แล้ว เพราะหากเทียบบรรยากาศวันนี้กับบรรยากาศในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่อำนวยการโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และในยุค “รัฐบาลขิงแก่” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ตอนนั้นโดนพวกเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตรถล่มเสียเละเทะอยู่ทุกวัน แต่ในที่สุดก็ผ่านมาแบบฉลุย เพราะการลงประชามติก็ยึดเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิ์เหมือนกัน และที่สำคัญในตอนนั้นคนที่มีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายก็คือ มีชัย ฤชุพันธุ์ คนเดียวกับที่กำลังเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี่แหละ
ก่อนหน้านี้หากจำกันได้ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ หรือแม้แต่ตอนที่ร่างฉบับของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกตีตกไปในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ยังไม่เคยมีการปริปากเผยให้เห็นในประเด็นการแก้ไขในเรื่องการลงประชามติมาก่อน ที่ผ่านมามีแต่การสงสัยถกเถียงและตีความกันไป จนกระทั่งเพิ่งมีการเคลื่อนไหวชีดเจนก่อนที่จะมีการลงประชามติร่างฉบับใหม่ของมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำให้อีกด้านหนึ่งก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่านี่คือ “การวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า” ตั้งแต่การส่งสัญญาณให้คว่ำฉบับบวรศักดิ์หรือเปล่า ทางหนึ่งก็ยืดเวลาออกไปอีกพักหนึ่ง และอีกทางหนึ่งก็เป็นการ “ขยัก” เอาไว้เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมแล้วค่อยเปิดออกมาให้เห็น อย่างน้อยก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามจับทางไม่ถูก
เพราะหากมองย้อนกลับไป วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยังเคยพูดแบบหยั่งเชิงออกมาก่อนว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ หากคะแนนออกมาแพ้ไม่มากหรือประมาณล้านเศษหรืออะไรแบบนี้ก็อาจนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของมีชัย ฤชุพันธุ์ มาปัดฝุ่นปรับปรุงแก้ไขแล้วนำมาใช้ ซึ่งเป็นการพูดก่อนการได้ข้อสรุปก่อนการแก้ไขปมเรื่องการลงประชามติที่ให้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ
แน่นอนว่าต้องมีเสียงโวยวายจากฝ่ายทักษิณ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ที่เค้นคอให้ฝ่ายรัฐบาลและคสช.กำหนดให้ชัดไปเลยว่าหากลงประชามติไม่ผ่านให้หยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาใช้ และเห็นว่าการนำเอาฉบับมีชัยมาใช้นั้นเป็นการมัดมือชก แต่เชื่อว่าถึงอย่างไรคงไม่มีใครบ้าจี้ไปกำหนดแบบนั้นให้รัดคอตัวเองทำไม แต่ถ้าถามว่า ถ้าสมมติว่ามันเกิดไม่ผ่านมาจริงๆ ความเป็นไปได้ที่จะหยิบฉบับมีชัยก็เป็นไปได้สูง เพราะว่าในเนื้อหามันทั้งสกัดและบอนไซครอบครัวของทักษิณได้อย่างครบวงจร อีกทั้งถ้าคิดจะแก้ไขก็ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาเสียอีก
อย่างไรก็ดี นาทีนี้เมื่อพิจารณาจากข้อสรุปที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ที่เกี่ยวกับการลงประชามติโดยให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศ “พิเศษ” ที่ควบคุมไม่ให้กระดิกแบบนี้ แถมยังจะออกบทลงโทษใครก็ตามที่คิดจะป่วน มันถึงกล้าฟันธงได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องผ่านแน่นอน และสิ่งที่ต้องจับตาดูก็คือจะมีการ “ปล่อยของ” แบบที่เรียกว่าสกัดฝ่ายตรงกันข้ามอย่างต่อเนื่อง ประเภทที่เรียกว่าขยับไม่ได้เลยเชียวละ รอดูก็แล้วกัน!!