กกต. เตรียมหารือรัฐบาล เกณฑ์ประกาศผลประชามติ และกฎหมายกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด 10 ก.พ. นี้ หลังวิป สนช. ตีกลับ ตกลงกันไม่ได้ว่าประกาศผลประชามติอำนาจของใคร
วันนี้ (5 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ในวันนี้สำนักงาน กกต. ได้รับหนังสือเชิญจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 10 ก.พ. นี้ เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เบื้องต้นจะมี นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และตนเข้าร่วมหารือในครั้งนี้
โดยมีประเด็นที่จะหารือเบื้องต้น 2 ประเด็น คือ 1. ผู้มีหน้าที่ในการประกาศผลการทำประชามติ เนื่องจากประเด็นนี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เห็นว่า ร่างประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ข้อ 53 กำหนดว่า เมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงแล้ว กกต. จะรายงานผลการออกเสียง ว่า มีผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนทั้งหมดเท่าใด มีผู้ออกเสียงเท่าไหร่ มีเสียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบเท่าไหร่ ต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนข้อสรุปว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติหรือไม่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะวิป สนช. เห็นว่า โดยหลักแล้ว กกต. ควรเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการประกาศผลการทำประชามติว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านความเห็นชอบหรือไม่
ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ปัญหาภาคความผิดและบทกำหนดโทษในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้ กกต. มีข้อหารือว่า การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 39/1 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 นั้น ไม่ได้กำหนดความผิดและบทลงโทษในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไว้ ส่งผลให้ไม่มีกฎหมายบังคับ หากมีการกระทำฝ่าฝืนหรือการกระทำที่เป็นเหตุให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่งผลให้การควบคุมและดำเนินการจัดการออกเสียงของ กกต. ไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับ มาตรา 39/1 ไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 37 วรรคสาม มาบังคับใช้โดยอนุโลม
“กกต. จึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติให้มีกฎหมายรองรับการใช้อำนาจของ กกต. ในการควบคุม หรือดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการรักษาความสงบเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่ได้มีการตรา พ.ร.บ. ว่าด้วยความสงบเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาบังคับใช้ เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” นายสมชัย กล่าว