กรรมการการเลือกตั้ง เผย เตรียมคุยรองนายกรัฐมนตรี กฤษฎีกา หารือหลักเกณฑ์ประชามติ จ่อส่งศาล รธน. ตีความยึดเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์หรือคนมาโหวตหรือไม่ ย้ำ 4 แนวทางที่รัฐบาลควรทำ ชูบทบาทในร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มวันพิจารณาคำร้องคัดค้านเลือกตั้ง เพิ่ม กกต. เป็น 7 คน แต่โดนตัดการให้ใบแดง ยันไม่เห็นอำนาจเพิ่มจากเดิมมาก รับมี 7 - 8 ประเด็นต้องพิจารณา
วันนี้ (4 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวกรณีที่ วิป สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ กกต. ไปหารือกับรัฐบาลเกี่ยวกับร่างประกาศหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ว่า ในสัปดาห์หน้า กกต. จะเข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สำนักงานกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ ว่า จะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมายในเรื่องเกณฑ์การตัดสินการออกเสียงประชามติว่าจะยึดเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ หรือยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ หรือจะกลับไปแก้ไขกฎหมาย ซึ่งถ้าหากจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้ยื่นซึ่งตนก็เคยบอกแล้วว่า มี 4 แนวทางที่รัฐบาลควรจะทำ คือ คนที่ร่างกฎหมายควรระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการออกเสียงประชามติ หรือรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือรัฐบาลเสนอให้ สนช. แก้ไขกฎหมายให้ขัดเจน และแนวทางสุดท้าย คือ รัฐบาลนิ่งเฉยไม่ทำอะไร ซึ่งก็คิดว่าการนิ่งเฉยจะทำให้เกิดปัญหาสังคมคงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด
นายสมชัย ยังกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ออกมา ว่า ในส่วนของ กกต. ก็ยังมีอำนาจบทบาทเช่นเดิม แต่มีการเปลี่ยนในเรื่องของการให้ใบแดง ที่ให้อำนาจศาลเป็นผู้พิจารณาแทน และอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้งที่เพิ่มเป็น 60 วัน จากเดิมแค่ 30 วัน ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ กกต. มีเวลาในการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 คนมาเป็น 7 คนซึ่งก็เป็นการดีที่มี กกต. เพิ่มขึ้น
“ผมไม่เห็นว่าอำนาจขององค์กรอิสระจะเพิ่มมากจากเดิม และไม่เห็นมีใครออกมาพูดว่าอำนาจลดลง หรือคงเดิม มีแต่ออกมาพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป ซึ่งในส่วนของ กกต. ก็โดนตัดอำนาจการให้ใบแดงด้วยซ้ำ” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (5 ก.พ.) ตนจะหารือกับสำนักกฎหมาย สำนักงาน กกต. เกี่ยวกับประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะกลับไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเห็นว่า มี 7 - 8 ประเด็น ที่ต้องพิจารณาก่อนนำเข้าที่ประชุม กกต. พิจารณาในวันอังคารที่ 9 ก.พ. นี้ เพื่อเสนอ กรธ. ต่อไป