“อดีต สปช.บุญเลิศ” จี้ “วิษณุ” และ สนช.ยอมรับความผิดพลาดเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวปมเสียงข้างมากผู้มีสิทธิโหวตประชามติ ชี้หากไม่แก้เสี่ยงถูกคว่ำโดยปริยาย แนะเขียนไว้ด้วยถ้าฉบับ กรธ.ไม่ผ่านจะทำอย่างไร หวั่นยังกั๊กอาจสะเทือนเลือกตั้งตามโรดแมป
วันนี้ (7 ก.พ.) นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาล นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบ่ายวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบเพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเป็นคนนัดหมายนั้น ตนอยากให้รัฐบาลและ สนช.ยอมรับความผิดพลาดกรณีที่ไปเขียนในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวเมื่อคราวแก้ไขเพิ่มเติม โดยใช้คำ “เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ” แทนที่จะเป็น “เสียงข้างมากผู้มาใช้สิทธิ” เมื่อพลาดก็ต้องแก้ไขโดยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้เพื่อความชัดเจน จะได้ไม่เกิดปัญหาให้ต้องไปตีความ หากไม่แก้ประเด็นนี้ ถ้าเสียงเห็นชอบไม่ถึง 24.5 ล้านเสียง ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิจากทั้งหมดประมาณ 49 ล้านเสียง ทาง กกต.หรือใครก็ตามก็ต้องประกาศว่า ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ เพราะตัวอักษรกำหนดไว้เช่นนั้น
“ได้ข่าวมาว่า ทาง สนช.บอกให้ กกต.เป็นคนประกาศผลประชามติว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ กกต.อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ กกต.มีหน้าที่ประกาศว่าคนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบจำนวนเท่าไหร่ จะผ่านหรือคว่ำตอบไม่ได้เพราะมีปัญหาความไม่ชัดเจนในข้อความของรัฐธรรมนูญเรื่องผู้มีสิทธิ-ผู้มาใช้สิทธิ นอกจากนี้ทาง สนช.ยังบอกให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ข้อความในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เป็นปัญหา แต่ กกต.บอกว่าทำไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ กกต. สนช.และรัฐบาลต้องรู้ดีกว่าคนอื่น เพราะเป็นผู้เสนอและพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง จะไปถามองค์กรอื่นทำไม ที่สำคัญไม่เข้าเกณฑ์ในการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อีกทั้งเมื่อตอนที่ สปช.ลงมติคว่ำร่างฯ ฉบับนายบวรศักดิ์ เรื่องผู้มีสิทธิก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ขึ้นปล่อยไปก็โดนคว่ำประชามติแน่” นายบุญเลิศกล่าว
นายบุญเลิศกล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวไปในคราวเดียวกัน คือ กรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเกิดขึ้น จะปล่อยว่างไว้ให้คนวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แล้วมาประกาศภายหลังจากรู้ผลประชามติแล้วย่อมไม่เป็นธรรมกับประชาชนในการพิจารณาตัดสินใจว่าจะลงประชามติให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่าน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับใหม่ที่จะทำขึ้นนั้น รวมไปถึงการจัดทำกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะให้ใครทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร ต้องมีกระบวนการที่สังคมยอมรับ เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่คนมาลงประชามติไม่ให้ผ่านมีประเด็นอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจและความไม่เชื่อมั่นในหลายๆ อย่างปนอยู่ด้วย มิใช่เพียงแค่สาระในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังรวมไปถึงการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปที่ต้องไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2560