“สปช. บุญเลิศ” ถามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญประกาศหลักเกณฑ์ฟังความเห็นชาวบ้านยังไง ชี้ ควรทำประชาพิจารณ์เข้มข้น ฉงนหากประชามติไม่รับร่าง จะทำอย่างไรต่อ บอกแปลกมากไร้การประชาสัมพันธ์ ห่วงส่อถูกคว่ำ
วันนี้ (3 ม.ค.) นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตามที่กำหนดการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จร่างแรกในวันที่ 29 ม.ค. จากนั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะนำไปให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นนั้น ตนมีประเด็นที่อยากได้คำตอบที่จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ ดังนี้ 1. กรธ. จะประกาศหลักเกณฑ์ และวิธีการ รวมทั้งกำหนดเวลาในการรับฟังความเห็นประชาชนได้เมื่อไร อย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ การชี้แจงสาระของร่างแรก และการรับฟังความเห็นประชาชน ควรจะทำในรูปประชาพิจารณ์อย่างจริงจังและเข้มข้น
นายบุญเลิศ กล่าวต่อไปว่า 2. คณะรัฐมนตรีจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใดในประเด็นการลงประชามติให้ถือเอาเสียงข้างมากของ ผู้มาใช้สิทธิ มิใช่ ผู้มีสิทธิ รวมทั้งประเด็นหากประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งต้องมีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน ไม่เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญในอนาคต และ 3. รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติกำหนดให้ สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอประเด็นต่อคณะรัฐมนตรีที่จะสอบถาม เพื่อให้ประชาชนลงประชามติไปพร้อมกันกับร่างธรรมนูญ แต่ร่างรัฐธรรมนูญถูก สปช. ลงมติคว่ำไปเสียก่อน จึงไม่มีการเสนอประเด็นเพื่อนำไปสอบถามในการออกเสียงประชามติ เมื่อ กรธ. เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญถัดจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิม ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจะยืนยันในความคิดที่จะสอบถามประเด็นเพิ่มเติมอยู่หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ หรือเห็นว่าไม่จำเป็น
“การร่างรัฐธรรมนูญหากมุ่งหวังจะให้ผ่านประชามติ ทาง กรธ. ไม่ควรปล่อยให้บรรยากาศเงียบสงัดแบบนี้ ไม่มีกระบวนการสื่อสารสาธารณะ หรือการประชาสัมพันธ์เลย เป็นเรื่องแปลกมาก ผมรู้สึกหวั่น ๆ ว่า ถ้าปล่อยไปแบบนี้ ร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่ผ่านประชามติก็ได้” นายบุญเลิศ กล่าว