xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงรอร่างแรกถึงส่งคำแนะ กรธ. เลือก ส.ว.ทางอ้อมมีดี-เสีย ปัดพูดเด้ง “ภุชงค์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผย ครม.ยังไม่ส่งความเห็นไป กรธ. รอร่างฯ แรกก่อน ก่อนให้เหตุผลเห็นด้วยหรือไม่ ปมทางออกช่วงวิกฤตให้ กรธ.หาความชัดเจนเอง รับ ส.ว.ต้องอิงการเมืองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่มากหรือน้อย ชี้เลือก ส.ว.ทางอ้อมมีทั้งดีและเสีย มองเริ่มใหม่แล้วยุ่งยากก็ไม่ต้องทำอะไรใหม่เลย ปัดวิจารณ์เด้งเลขาฯ กกต. รอผลประเมิน ติดใจอุทธรณ์ได้

วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ส่งความคิดเห็นไปยัง กรธ. และขณะนี้รัฐธรรมนูญร่างแรกยังไม่ออกมา โดย ครม.จะรอให้รัฐธรรมนูญร่างแรกออกมาก่อน หากส่งความคิดเห็นหลังจากที่ได้เห็นร่างแรกก็จะเห็นความคิดเห็นในเชิงของการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ส่วนแนวในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในช่วงวิกฤตในรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ กรธ.จะต้องหาความชัดเจนด้วยตนเอง ขณะที่ กรธ.ได้แถลงแล้วว่าจะไม่มีการตั้งเป็นองค์กรใหม่ แต่จะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มอำนาจให้องค์กรที่มีอยู่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการได้มาของ ส.ว.ตามที่ กรธ.เสนอนั้น ส่วนตัวไม่ได้ติดใจประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการอิงกับพรรคการเมืองของ ส.ว. เพราะที่สุดแล้วคนที่จะไปเป็น ส.ว. ไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือสรรหา ก็ต้องมีการอิงการเมืองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าอิงมากหรือน้อย เพราะถ้าไม่อิงการเมือง แล้วจะเข้าไปเป็น ส.ว.ได้อย่างไร ต่อให้ราชรถมาเกยก็ต้องอิงการเมือง เพราะการเป็น ส.ว.ต้องพบปะผู้คน รวมกลุ่ม ล็อบบี้ หาเสียง ไม่เช่นนั้นจะหัวเดียวกระเทียมลีบ แต่การเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมที่ กรธ.เสนอนั้น มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลเสียคนอาจมองว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง ขณะเดียวกัน ส.ว.จะสะท้อนเสียงของประชาชนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรม แต่หน้าที่ของ ส.ว.คือการตรวจสอบถ่วงดุล

“การเลือกตั้งทางอ้อมนี้พูดไปแล้วก็ไม่ได้สะท้อนถึงคนหมู่มาก หมายถึงคนทั้งประเทศ ถามว่าแล้วใครที่สะท้อนความต้องการของคนทั้งประเทศ แต่การเลือกตั้งแบบนี้อาจสะท้อนคนเป็นกลุ่มๆ เช่น นักธุรกิจ การค้า นักวิชาการ ชาวไร่ชาวนา แต่ข้อเสียก็ต้องมองถึงมาตรฐานสากลด้วย วิธีการนี้อาจจะยุ่งยาก เพราะถือเป็นการคิดอะไรใหม่ๆ เป็นเรื่องที่เราไม่เคยชิน หลายเรื่องเมื่อเริ่มใหม่ก็จะมีความยุ่งยาก ถ้าคิดว่ายุ่งยากก็เลิกแล้วไม่ต้องทำอะไรกันใหม่เลย” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวต่อถึงกรณีที่นายภุชงค์ นุตราวงศ์ ออกมาระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากประชุม กกต. มีมติให้เลิกจ้างจากตำแหน่งเลขาธิการ กกต.ว่า เป็นเรื่องขององค์กรอิสระที่มีเกณฑ์การประเมินของตัวเอง จะให้ไปวิจารณ์คงตอบไม่ถูก จะพูดได้ก็ต่อเมื่อได้ทราบผลของการประเมินว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ไม่ทราบรายละเอียดว่าหากนายภุชงค์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจะสามารถไปร้องขอความเป็นธรรมได้ที่ใด เพราะมติดังกล่าวของ กกต.ไม่เกี่ยวข้องกับระเบียบข้าราชการใดๆ เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ของหน่วยงานต้นสังกัดว่าจะยินยอมให้อุทธรณ์หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น