xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ระบุ “มีชัย” แค่ประชด ใช้ รธน.ชั่วคราวหากประชามติไม่ผ่าน ยันรัฐบาลมีทางออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ บอก “มีชัย” แค่ประชดจะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แทนหากประชามติไม่ผ่าน ยัน คสช.-รัฐบาลมีทางออกบอกประชาชนแน่

;วันนี้ (26 ม.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แทนว่า นายมีชัยคงประชด แต่จะใช้ได้อย่างไรเพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพราะบทบัญญัติทั้งหมดเขียนเอาไว้ชั่วคราว ไม่มีเรื่องเลือกตั้ง ไม่มีเรื่องแถลงนโยบาย และอีกหลายๆ เรื่อง หากจะบอกว่าถ้าไม่มีก็เติมเข้าไป ซึ่งตอนเติมเข้าไป 100 กว่ามาตรา บวกกับของเดิมอีก 40 กว่ามาตรา ก็เกือบเท่า 261 มาตราของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยแล้วซึ่งก็คือการทำใหม่ หรือแม้แต่จะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าลอกมาทั้งหมด แต่ต้องดัดแปลง โดยตัดออก 20 มาตราแล้วใส่เข้าไปใหม่ 40 มาตรา ซึ่งก็เป็นตัวตั้ง เพียงแต่มันจะมองเห็นทิศทางว่าจะไปในแนวไหน ดังนั้นอย่าไปตื่นเต้นกับเรื่องเหล่านี้

ส่วนที่นายมีชัยระบุไม่ควรเขียนทางออกเรื่องประชามติไม่ผ่าน เพราะจะทำให้คนไม่สนใจเนื้อหานั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คล้ายกับสิ่งที่ตนเคยพูด เพราะเท่ากับเป็นการไปกำหนดล่วงหน้าว่ากลายเป็นการเตรียมทางออกหากไม่ผ่าน แต่ในแง่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลซึ่งคงต้องคิดว่าจะแก้หรือไม่แก้ เพียงแต่ต้องมีคำตอบให้แก่ประชาชนเท่านั้นว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อ ทีนี้คำตอบมันอาจจะมาโดยการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ถ้าแก้ก็ไม่อึมครึม แต่ถ้าไม่แก้ก็ต้องมีคำตอบ แต่ว่าอาจจะยังประกาศไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้อย่าเพิ่งพูดอะไรเลย เอาเป็นว่าคนที่เกี่ยวข้องกำลังคิดหาหนทางที่ดีที่สุดซึ่งต้องเตรียมคำตอบเอาไว้ แม้แต่ถ้าผ่านประชามติก็ต้องเตรียมคำตอบว่าจะทำกฎหมายลูกอย่างไร

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (25 ม.ค.) ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ในวันที่ 29 มกราคม นี้จะสามารถส่งรัฐธรรมนูญร่างแรก ให้กับ แม่น้ำ 5 สาย ได้ทันตามกำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาบทเฉพาะกาล ซึ่งจะเขียนไว้เท่าที่จำเป็น เพี่อรอรับฟังความคิดเห็นแต่ละภาคส่วนตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ โดยเบื้องต้นจะเป็นการวางกรอบการทำงานของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการลดทอนอำนาจของรัฐบาล เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามปกติจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

ซึ่งระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการร่างฯ ในบทเฉพาะกาล ให้ขึ้นอยู่กับภารกิจงานว่าจะต้องทำเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งที่ใช้เวลาไม่นาน หรือทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนานกว่าปกติ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะเสนอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การทำประชามติให้ชัดเจนนั้น ถ้ารัฐบาลเข้าใจว่าประชามติใช้เสียงข้างมากตามปกติก็ไม่จำเป็นต้องแก้ แต่หากสงสัยก็สามารถแก้ได้ เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการร่างฯ พิจารณา ทั้งนี้ หากรัฐบาลเกรงว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องการตีความก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อนจัดทำประชามติได้

ขณะเดียวกัน นายมีชัย มองว่า การแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเปิดทางกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เป็นเรื่องที่ทำไว้ก่อนไม่ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนไม่สนใจที่เนื้อหาของร่าง พร้อมเชื่อว่าประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าถ้าเกิดลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่มีรัฐธรรมนูญ และจะได้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อถึงตรงนั้นค่อยไปคิดอีกทีว่าจะหาทางออกอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น