xs
xsm
sm
md
lg

มะกันจุ้นขอพบมีชัย ข้องใจกระบวนการร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (25 ม.ค.) นายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการประชุมของ กรธ.ว่า ได้ตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำ และความเชื่อมโยงในแต่ละมาตราให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยได้พิจารณาหมวดรัฐสภาต่อเนื่อง ในบทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง การประชุมร่วมกันของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี การขัดกันแห่งผลประโยชน์ และได้พิจารณาเรื่องยุทศาสตร์ชาติ เพราะก่อนหน้าวางกรอบไว้กว้าง ไม่เขียนกลไก ที่ประชุมจึงหารือเพื่อวางกลไกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และกินได้ เนื่องจากยุทศาสตร์ชาติเป็นกรอบการทำงานให้รัฐบาลทุกสมัยต้องเดินตามจึงต้องเขียนให้มั่นคง แก้ไขยากเพราะถ้าเขียนกฎหมายไม่แน่น รัฐบาลที่รับช่วงต่อจากคสช. ก็อาจประกาศยกเลิกได้
นายอมร กล่าวด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ หัวหน้าฝ่ายการเมืองของสหรัฐอเมริกาได้เดินทางพบ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ซึ่งได้มอบหมายให้ตนพูดคุย โดยหัวหน้าฝ่ายการเมืองของสหรัฐฯ ได้นำประเด็น ที่นักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ มาสอบถามถึงข้อเท็จจริง อาทิ การปิดห้องประชุมพิจารณาร่างฯ ซึ่งมองว่า การร่างกฎหมาย ไม่ใช่การดูลิเก ถ้าหากเปิดห้อง ก็อาจจะทำให้การทำงานไม่เป็นอิสระ และสร้างความกีดขวางในบางกรณี และยังถามถึงเรื่องการเบิกงบประมาณของ ส.ส. จึงอธิบายว่ากฎข้อบังคับการเบิกงบประมาณต่างๆ ของส.ส.นั้น กรธ.ไม่ได้แก้ไขจากรัฐธรรมนูญปี 40 และ ปี 50 แต่ที่ผ่านมาไม่มีบทลงโทษ กรธ.จึงระบุโทษไปถึงส่วนราชการที่รู้เห็นเป็นใจ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งพยายามอธิบายให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องในประเทศ ไม่ใช่เป็นเรื่องระหว่างประเทศ

** "วิษณุ"ให้คะแนนร่างรธน.สอบผ่าน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเนื้อหาของ ร่าง รัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ว่า ได้เห็นร่างแล้ว แต่ยังไม่เห็นบทเฉพาะกาล
ส่วนที่ฝ่ายการเมืองออกมาข่มขู่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เป็นไร อยากพูดอะไร ก็พูดไป เชื่อว่ากรธ. คงได้ยิน อะไรที่เป็นประเด็นสำคัญที่เขาตั้งใจไว้ คงไม่แก้ แต่บางเรื่องที่มีการทำการสำรวจความคิดเห็น แล้วประชาชนเห็นด้วย อย่างการให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ก็ทำให้เขามั่นใจขึ้นว่า มาถูกทาง ส่วนที่ประชาชนไม่เห็นด้วย กรธ. คงจะเอาไปประกอบการพิจารณา
ส่วนที่มีการเสนอให้ดีเบตกัน ระหว่างนักการเมือง กับ กรธ. ถึงข้อดี-ข้อเสีย ของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ความจริงการเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น เป็นเรื่องดี แต่จะดีเบตหรือไม่ ไม่แน่ใจ ต้องถาม กรธ.ว่าพร้อมหรือไม่ บางทีไม่ต้องถึง ดีเบต แค่พูดประเด็นเดียวกัน ไม่ต้องถึงขั้นมาโต้เวทีกัน ที่สำคัญ ประชาชนควรได้อ่านเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อน จะได้รู้ว่าถ้อยคำจริงๆ เป็นอย่างไร
นายวิษณุ กล่าวว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อเทียบกับฉบับก่อนๆ มา ถือว่าใช้ได้ทีเดียว จะบอกว่าเลวทั้งหมดเหมือนที่พูดกันมาคงไม่ใช่ ความถูกใจ หรือไม่ถูกใจ มีได้ เป็นบางประเด็น ถูกใจประเด็นนี้ แต่ไม่ถูกใจประเด็นโน้น ก็ได้ เหมือนสื่อที่ติ แต่ไม่ชม แค่ไม่พูดถึง ก็ถือว่าดีเท่าไรแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นที่แต่ละพรรคออกมาวิจารณ์นั้น เนื้อหาก็ใกล้เคียงกัน กรธ. คงต้องคิดให้หนักว่าจะทำอย่างไร แต่ถือว่าเป็นเสียงทักท้วงของประชากรกลุ่มหนึ่ง ในประชาคมของประเทศ ที่มีทั้งนักการเมืองและนักวิชาการ เพราะเขาติดตามตลอดจึงเห็นประเด็นชัด แต่ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมด จึงอาจถูกชักนำให้คล้อยตาม เมื่อถึงเวลาลงประชามติ จะต้องมาพูดกันทั้งหมด และทำฉบับย่อให้ประชาชนเข้าใจในทุกมาตรา หากถึงวันทำประชามติตนเชื่อว่า จะผ่านประชามติ แต่ไม่ขอพูดถึงเหตุผล เพราะเดี๋ยวจะมีคนมาค้าน และทำลายเหตุผลเหล่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การรณรงค์ให้คว่ำ หรือให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติ จะสามารถทำได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า วันนี้อาจจะทำยาก แต่เชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ต้องผ่อนคลายลง ในการเปิดโอกาสให้คนรับฟัง ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการให้ประชาชนรับทราบแต่เพียงข้อดี เพราะวันหนึ่งความจริงก็คือความจริง ถ้ามันไม่ใช่ ก็จะลำบาก จึงต้องพูดทั้ง 2 ทาง แล้วชั่งน้ำหนัก แต่สำหรับตน ไม่ขอพูดว่ารับไว้ก่อนแล้วแก้ทีหลัง ไม่กล้าพูดแล้ว แต่เท่าที่ดูแล้ว ดีเกินครึ่ง
ต่อข้อถามว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะมาพูดคุยการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อรองรับการทำประชามติหรือยัง รองนายกฯ กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังคิดกันอยู่ หากคืบหน้า จะบอก ไม่อยากบอกตรงนี้ เดี๋ยวจะเสียเหลี่ยม ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านโรดแม็ปที่นายกฯกำหนดไว้จะมีการเลือกตั้งปี 60 ก็ยังเหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น