ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงวันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ทำการยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการจัดพิมพ์ ก่อนส่งมอบต่อรัฐบาลในวันที่ 29 ม.ค.นี้ เพื่อนำไปทำการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้รับรู้
สำหรับไทม์ไลน์ การประชาสัมพันธ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอ แนะจากฝ่ายต่างๆ ก็จะเริ่มในช่วงต้นเดือนก.พ. ระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ. วันใดวันหนึ่ง กรธ. จะชี้แจงและรับฟังข้อเสนอ ของสมาชิก สปท. และ สนช. ที่ห้องประชุมรัฐสภา ขณะเดียวกันก็มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มจังหวัดรายภาค ที้ง 4 ภาค โดยภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสาน ที่ จ.ขอนแก่น ภาคกลาง ที่ กทม. และ ภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎรธานี ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องสะท้อนความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ กลับมายัง กรธ. ภายในวันที่ 15 ก.พ.
ในช่วง 16 ก.พ. -20 มี.ค. จะทำการปรับปรุง ตรวจสอบความสอดคล้องของถ้อยคำ และมาตรา เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะออกมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง ที่จะส่งมองให้กับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรี จะมารับมอบ ในวันที่ 29 มี.ค. 59 ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ภายใน 180 วันตามกำหนด จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการทำประชามติ
แม้ขณะนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ จะยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียด ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ นายมีชัย ก็ได้สรุปข้อเด่นของ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มีการให้สิทธิของประชาชน ชนิดที่เรียกว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ มีการสร้างกลไกต่างๆในการแก้ปัญหา และปฏิรูปประเทศ อาทิ กลไกการปรองดองที่กำหนดเป็นหน้าที่รัฐในการสร้างความปรองดอง สิทธิประชาชนได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นจริง กลไกเลือกตั้งที่ทุกสิทธิ์มีความหมาย เปิดช่องให้ผู้นำฝ่ายค้านเสนอแนะรัฐบาลได้ และทุกเรื่องที่อาจมีข้อขัดแย้ง จะมีคนชี้ขาดให้ยุติเด็ดขาด สิ้นประเด็นถกเถียง
ที่สำคัญคือเรื่องการป้องกัน และแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันที่เข้มข้นมาก ซึ่งนายมีชัย ถึงกับขนานนามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบทุจริต"
แต่ในมุมมองของนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองในซีกของพรรคเพื่อไทยแล้ว กลไกต่างๆ ที่กำหนดไว้นั้น ล้วนแฝงไปด้วยวาระซ่อนเร้น ในการสืบทอดอำนาจ มุ่งขจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
อาทิ การเปิดช่องนายกฯ คนนอก ที่มาส.ว. จากสาขาอาชีพต่างๆ ที่ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรง ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปั่นส่วนผสม รวมไปถึงการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจที่ 4 ที่มีอำนาจเหนือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะเป็นปัญหาและเป็นอันตรายมาก
การให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจที่ 4 นั่นก็คือ การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยชี้ขาด ประเพณีการปกครอง ตามมาตรา 7 เดิม หรือที่เรียกกันว่า ผ่าทางตันทางการเมืองนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ ร่าง รัฐธรรมนูญ ฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เคยคิดสร้างองค์กรผ่าทางตันทางการเมืองมาแล้ว ในชื่อว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายการเมือง และ คปป. นี่แหละที่เป็นสาเหตุหนึ่ง ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับบนายบวรศักดิ์ ถูกคว่ำในชั้นการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
เมื่อนายมีชัย มาเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ถูกฝ่ายการเมืองจับจ้องอยู่ตลอดว่า จะยังมี คปป.หรือไม่ หรือจะแอบเอาไปซุกไว้ตรงไหน ในบทเฉพาะกาล ในกฎหมายลูก หรือไม่ นายมีชัย ก็เลยเอาอำนาจในส่วนที่ว่านี้ไปฝากไว้กับองค์กรอิสระที่มีอยู่แล้ว อย่างศาลรัฐธรรมนูญ เสียเลย โดยไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรชื่อแปลกๆ ขึ้นมาใหม่
การเพิ่มอำนาจอย่างล้นเหลือให้กับศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ สุดที่พลพรรคเพื่อไทยจะรับได้ ก็อย่างที่รู้กันว่า ระบอบทักษิณ ได้รับความเจ็บปวด จากศาลรัฐธรรมนูญมานับครั้งไม่ถ้วน ถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด
นายกรัฐมนตรีในระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ ชินวัตร สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวสัดิ์ กระทั่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้วนตายคาศาลรัฐธรรมนูญกันมาแล้วทั้งนั้น นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่พรรคเพื่อไทย จะยอมไม่ได้
ยังมี ที่กรธ.ได้บัญญัติให้องค์กรอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตือนรัฐบาลได้ หากพบมีเรื่องที่ส่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เท่ากับเป็นเปิดช่องให้องค์กรเหล่านี้ เข้ามาการก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาลได้ ยิ่งการบัญญัติว่า ให้ป.ป.ช. พิจารณาคดีที่สำคัญ ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี นั้นกำลังถูกวิจารณ์ว่า จะใช้อะไรเป็นเครื่องตัดสินว่า คดีไหนสำคัญ ไม่สำคัญ
ประเด็นเหล่านี้ ถูกมองว่า จะส่งผลให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งขาดความเข้มแข็ง อยู่ยาก ถ้าไม่ใช่ฝ่ายเดียวกันกับองค์กรอิสระเหล่านี้
ยิ่งล่าสุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยังออกมาชี้นำว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนใน บทเฉพาะกาล เกี่ยวกับเรื่องการตัดสิทธิ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวการเมือง เป็นเวลา 5 ปี อย่างที่เคยเสนอแนวคิดนี้ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพื่อป้องกันการสืบอำนาจของ คสช.
แน่นอนว่า คำพูดของนายมีชัย ย่อมถูกนำไปตีความว่า เมื่อมีการเปิดช่องไว้เช่นนี้ มีหรือคนใน คสช. จะไม่สืบทอดอำนาจ !!
แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ รองหัวหน้าคสช. จะพูดเสมอว่า ที่เข้ามานี่ก็เพราะความจำเป็น จะอยู่แค่ตามโรดแมปที่ได้กำหนดไว้ หลังเลือกตั้งกลางปี 60 จะปล่อยมือ ให้รัฐบาลใหม่เข้ามารับช่วงต่อ โดยที่ตัวเองจะถอยออกไป ไม่มีการสืบทอดอำนาจ เพราะเหนี่อย ปวดหัว นอนไม่หลับ ... สารพัดเหตุผลที่จะบอกว่า ไม่เอาแล้ว ที่อยู่ทุกวันนี้ก็ด้วยความจำใจจริงๆ ไม่อยากให้ประเทศชาติพังไปต่อหน้าต่อตา
แต่จะมีใครเชื่อมากน้อยแค่ไหนว่า คำพูดจากใจเหล่านี้ จะตรงกับความเป็นจริง เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อำนาจเป็นสิ่งที่หอมหวาน ใครได้ลิ้มลองล้วนหลงไหล ติดอกติดใจ ตัดไม่ขาด
ลองฟังคำตอบล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูก็ได้ เมื่อถูกนักข่าวถามถึงเรื่องนี้
" ก็ผมจะไปหรือยังล่ะ ผมจะไปถึงตรงนั้นหรือยัง จะเว้นวรรคยังไง ถามว่าใครจะไปเล่นการเมืองล่ะ"
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า อาจจะเป็นสมาชิกใน คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า " ก็บอกมาสิ สมาชิกในคสช. นี่เป็นใคร ไม่ต้องมีเผื่อ เดี๋ยวเขาก็คิดกันเองแหละ"
นักข่าวถามว่า นายกฯคิดว่าจำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบด้วยด้วยอารมณ์โมโหว่า
" ก็เป็นเรื่องของเขา ที่จะเขียนหรือไม่เขียน ก็ว่าไปเถอะ ไม่ต้องมามั่นใจ ทำไมพวกเธอถึงไม่ไปมั่นใจพวกคนเลวๆ ที่จะเข้ามาอีกล่ะ ไปเขียนล็อกพวกนั้นไม่ได้ อย่าเลย ฉันพูดกับเธอ มันไม่เกิดประโยชน์หรอก ผมอารมณ์ไม่ดี ทุกทีแหละ ผมแกล้งอารมณ์ไม่ดีตลอด พอแกล้งไปแกล้งมา เป็นจริงทุกที ไอ้พวกนี้มันชอบกระตุ้น แต่ไม่ได้โกรธเธอหรอก แต่พวกเธอต้องเข้าใจสิว่า วันนี้เรากำลังแก้ไขปัญหาอยู่ กำลังวางพื้นฐานประเทศอยู่ แล้วต้องปฏิรูปให้ได้ แต่ทุกคนไม่ยอมรับอะไรเลย ใครจะทำล่ะ แบบประชาธิปไตย จะทำได้อีกไหม ทำไมไม่ใช้ประโยชน์ผมในวันนี้ ให้ทำงานตรงนี้ให้ได้
วันหน้าเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกทีว่าต้องทำอย่างไร วันนี้เธอก็ไปฟังพวกหนีคดี ไปฟังเขาอยู่นั่น มันผิดกฎหมายไม่ใช่หรือ ผิดอะไรบ้าง เยอะแยะไปหมด"
ตีความระหว่างบรรทัดกันเอาเองก็แล้วกันว่า คสช.จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ หากไม่ปิดช่องเอาไว้
แต่เชื่อว่า นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะต้องนำประเด็น การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เหนือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ รวมทั้งการเปิดช่องให้คสช.สืบทอดอำนาจนี้ ไปขยายความเป็นประเด็นคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ในชั้นประชามติ