xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"แนะเปิดฟังความเห็น ตัดฝ่ายการเมืองร่วมร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ เพราะหากมีการนำร่างนี้มาทำประชามติ จะทำให้มีความขัดแย้งมากพอสมควร เพราะว่ามีบทบัญญัติบางส่วนที่คงเป็นที่ถกเถียงกัน แต่สามารถนำร่างไปปรับปรุง เพื่อเก็บสิ่งที่ดีไว้ และเอาจุดที่เป็นปัญหามาถกเถียง และแก้ไขก่อนไปสู่ประชามติ เพราะตนอยากจะให้ได้รัฐธรรมนูญที่มีความมั่นใจกันในเรื่องของการปฏิรูป เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เมื่อนำไปใช้ในการเลือกตั้ง บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ ดังนั้นเสียเวลาไปไม่กี่เดือนน่าจะคุ้มค่ากว่า
"เมื่อสภาปฏิรูปไม่เห็นชอบร่างฯ ไม่ได้แปลว่าเราต้องไปโยนทุกสิ่งทุกอย่างทิ้ง สิ่งที่มันเป็นหลักการที่ดี เช่น การเพิ่มอำนาจพลเมือง การเพิ่มการตรวจสอบ ผมคิดว่าคนที่เข้ามาทำหน้าที่ร่างใหม่ คือ คณะกรรมการ 21 ท่านที่จะตั้งขึ้นนี้ก็ไม่ต้องทิ้งครับ น่าจะเอาของที่ดีนั้นคงไว้เลย แล้วก็ใช้เวลานี้มาดูเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา ไหนๆเราก็จะมีเวลามาอีก 6 เดือนในกระบวนการที่จะทำร่างฯ ใหม่ เราพยายามถอดเรื่องการเมือง เรื่องวาทกรรมออกไป ผมไม่เห็นด้วย หากว่า 21 ท่านนี้ จะมาเริ่มต้นเหมือนกับเขียนกันใหม่หมดเลย สิ่งที่ไม่ได้เป็นปัญหา สิ่งที่ค่อนข้างตกผลึกแล้วว่ามีความจำเป็นก็เก็บไว้เลยแต่ของที่เป็นปัญหานี้ เราใช้เวลากับมันในการมาถกเถียงกันว่าอะไรคือแนวทางที่จะเดินหน้าประเทศต่อไป ปัญหาที่ผ่านมาเป็นเรื่องกาฝากประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาต้องตัดกาฝากทิ้ง ไม่ใช่ตัดต้นไม้ประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นถ้าเอาตรงนี้มาเป็นตัวตั้ง แล้วทำอย่างไรที่จะส่งเสริมนักการเมืองที่ดี จำกัดไม่ให้นักการเมืองที่ไม่ดีทำสิ่งที่ไม่ดีได้ โดยฟังจากทุกเสียและจะต้องสอดคล้องกับบริบทของสังคม"
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คนว่า ผู้ที่จะมาร่างฯ ก็น่าจะต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สามารถผสมผสานกัน ทั้งผู้มีประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ ปี 40 ปี 50 หรือฉบับที่เพิ่งถูกคว่ำไป และจะเติมคนใหม่เข้าไปก็ได้ โดยไม่ต้องคิดเรื่องเอาฝ่ายการเมือง เพราะจะกลายเป็นประเด็น ผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นมาอีก แต่สำคัญคือ กระบวนการการทำงาน และปัญหาการทำประชามติ เพราะในที่สุดต้องไม่ลืมว่า ร่างฯ ฉบับใหม่เสร็จ ก็ต้องกลับไปสู่ประชามติ ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงตีความการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก ถือเป็นบทเรียนสำคัญ สำหรับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ว่าหากทำให้กระบวนการมันเปิดเผย มีส่วนร่วมให้มาก ก่อนจะเข้าสู่การลงมติของประชาชน ก็จะช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องการปฏิรูปที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญต้องเดินต่อไป โดยผู้ที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรม คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่สภาขับเคลื่อน เพราะสภาขับเคลื่อนไม่มีอำนาจในการบริหาร ไม่มีอำนาจในการจัดการ ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของคณะกรรมการทั้ง 21 คนไม่ได้คสช. และรัฐบาลจะมีบทบาทอย่างมากว่า กระบวนการเรื่องรัฐธรรมนูญจากนี้ไปนั้นจะเป็นอย่างไร และเอื้อให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดีหรือไม่
ส่วนที่มีกระแสข่าวมีคำสั่งให้สปช.โหวตคว่ำร่างรธน.นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมองว่าหากสามารถสั่งให้สปช. ต้องผ่าน หรือ ประชามติต้องผ่าน ก็ไม่ต้องมีสปช. หรือมีประชามติก็ได้ เขียนอย่างไรก็เอาอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราควรเคารพการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่วันนี้สิ่งที่บ้านเมืองต้องการ ไม่ใช่มาเล่นแง่ เล่นมุม มีเหลี่ยมทางการเมืองกันอีกต่อไป 6 เดือนจากนี้ต้องใช้ให้เป็นโอกาสทองในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริงให้ได้ และจะเป็นการบ้านสำคัญสำหรับทั้งรัฐบาล และสภาขับเคลื่อนฯ ว่า ทำอย่างไรใน 6 เดือน หรือ 1 ปี จากนี้ไปให้การปฏิรูปทุกด้านเป็นรูปธรรมปรากฏชัดมากขึ้น
ส่วนที่มองว่า การไม่ล้มร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเกมในการยืดอายุรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าตนไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งนับจากนี้ไป 6 เดือน จะได้พิสูจน์ และแยกกันออกว่า ใครเสนอเพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตัวเอง พวกตนไม่ได้เป็นปัญหา จะรออีก 6 เดือน หรืออาจจะนานกว่านั้น ถ้าได้สิ่งที่ดีสำหรับบ้านเมืองต่อไปในอนาคต แต่หากจะไม่มีกำหนดเลย หรือทำไปเรื่อยๆ กี่ปีๆ อย่างนี้คงไม่ได้ เพราะจะมีความเสียหายอีกด้านหนึ่งเกิดขึ้น จึงขอให้ทุกฝ่ายพักเรื่องการวิพากษ์ วิเคราะห์ กันทางเมืองในช่วง 6 เดือน ให้เป็นเวลาของการวางระบบที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองในอนาคต แล้วทุกคนมาร่วมกันทำอย่างสร้างสรรค์
ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ดีพอสมควรที่จะผ่านไปสู่ประชามติ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งนายสุเทพ และตน หรือพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงมีเป้าหมายไม่ต่างกัน คือ การปฏิรูป เพียงแต่เราประเมินต่างกันเท่านั้น ทาง กปปส. อาจจะมองว่าหลักประกันในเรื่องการปฏิรูปมันดีพอแล้ว แต่ที่ตนคุย เห็นว่าหลักประกันการปฏิรูปนั้นยังไม่มี มีแต่กลไกที่สามารถมาบังคับรัฐบาลต่อไปให้ทำอะไร หรือไม่ทำอะไรก็ได้ มากกว่าสาระการปฏิรูป และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง
นายอภิสิทธิ์ ยังชี้แจงด้วยว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นตรงกับพรรคเพื่อไทย ที่ให้โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่ามีเหตุผล หรือมีเจตนาเหมือนกัน สำหรับตนจะตัดสินใจ หรือแสดงความคิดเห็น จะดูจากเนื้อหาสาระและคิดเอง อยากให้สังคมดูเหตุ ดูผล อย่าเอาความรู้สึกเพราะเป็นสาเหตุของปัญหาในชาติที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ ต้องอย่าใช้อารมณ์ หรืออยู่กับกระแส ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเอาหลักการสำคัญมาวาง เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้อย่างรอบคอบ มีสติ
กำลังโหลดความคิดเห็น