หัวหน้าพรรคคนไทยขอบคุณ สปช.คว่ำร่าง รธน.ดับชนวนขัดแย้ง ไม่ว่าจะคิดเองหรือถูกล็อบบี้ จี้อดีต สปช.โชว์สปิริตไม่รับเก้าอี้สภาขับเคลื่อนฯ แนะ “ประยุทธ์” ไม่ต้องตั้งคนเยอะ ใช้อำนาจ คสช.เดินหน้าปฏิรูปเอง อย่าเอาคนหน้าเดิมเข้ามาอีก พร้อมยุดึงฝ่ายการเมือง กลุ่มเห็นต่างร่วมร่างกติกาประเทศ เชื่อจะได้เห็นใครกันเป็นคนทำร้ายประเทศ
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอขอบคุณสมาชิก สปช.ส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจด้วยตนเอง หรือถูกล็อบบี้ตามที่เป็นข่าวก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าไม่สร้างความแตกแยก และเป็นการรับฟังเสียงประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญประเทศไม่ต้องสูญเสียงบประมาณในการทำประชามติเป็นจำนวนมากอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อยากขอเรียกร้องให้อดีตสมาชิก สปช.แสดงสปิริตในการไม่รับตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่จะมีการตั้งขึ้น เพราะถือว่างานของ สปช.สุดสิ้นไปแล้วตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และเพื่อป้องกันข้อครหาว่ามีการตอบแทนการลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
นายอุเทนกล่าวอีกว่า ขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งบุคคลเข้าร่วมเป็นสภาขับเคลื่อนฯ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ว่า ควรพิจารณาการกำหนดบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และไม่ควรใช้คนหน้าเดิมเข้ามามีส่วนร่วมเพราะมีผลลัพธ์ให้เห็นแล้วว่าล้มเหลว เนื่องจากขาดความเข้าใจสถานการณ์บ้านเมือง
สำหรับจำนวนของสภาขับเคลื่อนฯก็ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งจนครบ 200 คนตามที่รัฐบาลธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ เพราะกรอบแนวทางการปฏิรูปนั้นได้มีการกำหนดไว้แล้วโดย สปช.ชุดเดิม ขณะที่การปฏิบัตินั้น คสช.ก็สามารถใช้อำนาจที่มีในการขับเคลื่อนได้
นายอุเทนกล่าวต่อว่า ในส่วนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่นั้นนอกเหนือจากตัวแทนของ คสช.แล้ว ก็ควรที่จะดึงฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสองพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งกลุ่มการเมืองที่สำคัญซึ่งมีความเห็นต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งกลุ่ม นปช. กปปส. อาจรวมไปถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย แต่อาจจะมีสัดส่วนที่น้อยกว่าพรรคการเมืองซึ่งมีความเป็นสถาบันมากกว่า เราต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่เกิดการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นมาจากฝ่ายการเมืองที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ชี้ให้เห็นข้อตำหนิของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องที่มาของ ส.ส.-ส.ว. ซึ่งทำให้รัฐสภาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ หรือการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่มีข้อกังวลในเรื่องอำนาจที่มากเกินไป เป็นต้น ซึ่งประเด็นที่มีปัญหาเหล่านี้ไม่ควรนำไปบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเขียนขึ้นใหม่อีก
“ไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าไร จะกี่เดือนกี่ปี เชื่อว่าประชาชนรอได้ หากจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญที่ดีให้กับบ้านเมืองจริงๆ และจะได้ผลมากที่สุดถ้ามีการนำคนที่เห็นต่างเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปไตย์ กปปส. นปช. หรือพันธมิตรฯ ให้มาทะเลาะกันให้พอ และวางกติการ่วมกัน จะได้รู้ว่าที่สุดแล้วใครที่คิดบวก คิดดีกับประเทศชาติบ้านเมือง"