“อภิสิทธิ์” มอง สปช.คว่ำร่างฯ ทางออกดีสุด ตัดขัดแย้ง แนะแก้จุดปัญหาก่อน คงสิ่งดี ค้านเขียนใหม่หมด ตัดกาฝากไม่ใช่ตัดต้น ปชต. จำกัดนักการเมืองทำไม่ดี ชี้ กมธ.ยกร่างฯ ใหม่ต้องเชี่ยวชาญ อย่าดึงการเมืองยุ่ง แนะบทเรียนเปิดเผยมีส่วนร่วมขึ้น ปูทางยอมรับประชามติ เดินต่อปฏิรูปไม่เกี่ยว รธน. วอนเคารพการทำหน้าที่อย่าเล่นแง่ ชี้ 6 เดือนข้างหน้ารู้ใครทำเพื่ออะไร ของดวิพากษ์ รับประเมิน รธน.ต่าง กปปส.แต่เป้าปฏิรูปเหมือนกัน คว่ำร่างแบบ พท.แต่ต่างเหตุผล
วันนี้ (8 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ เพราะหากมีการนำร่างนี้มาทำประชามติจะทำให้มีความขัดแย้งมากพอสมควร เพราะว่ามีบทบัญญัติบางส่วนที่คงเป็นที่ถกเถียงกัน แต่สามารถนำร่างไปปรับปรุง เพื่อเก็บสิ่งที่ดีไว้ และเอาจุดที่เป็นปัญหามาถกเถียงและแก้ไขก่อนไปสู่ประชามติ เพราะตนอยากจะให้ได้รัฐธรรมนูญที่มีความมั่นใจกันในเรื่องของการปฏิรูป เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เมื่อนำไปใช้ในการเลือกตั้ง บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ ดังนั้นเสียเวลาไปไม่กี่เดือนน่าจะคุ้มค่ากว่า
“เมื่อสภาปฏิรูปไม่เห็นชอบร่างฯ ไม่ได้แปลว่าเราต้องไปโยนทุกสิ่งทุกอย่างทิ้ง สิ่งที่มันเป็นหลักการที่ดี เช่นการเพิ่มอำนาจพลเมือง เช่นการเพิ่มการตรวจสอบ ผมคิดว่าคนที่เข้ามาทำหน้าที่ร่างใหม่ คือ คณะกรรมการ 21 ท่านที่จะตั้งขึ้นนี้ก็ไม่ต้องทิ้งครับ น่าจะเอาของที่ดีนั้นคงไว้เลย แล้วก็ใช้เวลานี้มาดูเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา ไหนๆ เราก็จะมีเวลามาอีก 6 เดือน ในกระบวนการที่จะทำร่างฯ ใหม่ เราพยายามถอดเรื่องการเมือง เรื่องวาทกรรมออกไป ผมไม่เห็นด้วยหากว่า 21 ท่านนี้จะมาเริ่มต้นเหมือนกับเขียนกันใหม่หมดเลย สิ่งที่ไม่ได้เป็นปัญหา สิ่งที่ค่อนข้างตกผลึกแล้วว่ามีความจำเป็นก็เก็บไว้เลย แต่ของที่เป็นปัญหานี้ เราใช้เวลากับมันในการมาถกเถียงกันว่าอะไรคือแนวทางที่จะเดินหน้าประเทศต่อไป ปัญหาที่ผ่านมาเป็นเรื่องกาฝากประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาต้องตัดกาฝากทิ้ง ไม่ใช่ตัดต้นไม้ประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นถ้าเอาตรงนี้มาเป็นตัวตั้ง แล้วทำอย่างไรที่จะส่งเสริมนักการเมืองที่ดี จำกัดไม่ให้นักการเมืองที่ไม่ดีทำสิ่งที่ไม่ดีได้ โดยฟังจากทุกเสียและจะต้องสอดคล้องกับบริบทของสังคม”
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คนว่า ผู้ที่จะมาร่างฯ ก็น่าจะต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สามารถผสมผสานกัน ทั้งผู้มีประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 40 ปี 50 หรือฉบับที่เพิ่งถูกคว่ำไปและจะเติมคนใหม่เข้าไปก็ได้ โดยไม่ต้องคิดเรื่องเอาฝ่ายการเมือง เพราะจะกลายเป็นประเด็น ผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นมาอีก แต่สำคัญคือกระบวนการการทำงาน และปัญหาการทำประชามติ เพราะในที่สุดต้องไม่ลืมว่าร่างฯ ฉบับใหม่เสร็จก็ต้องกลับไปสู่ประชามติ ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงตีความการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนว่าหากทำให้กระบวนการมันเปิดเผย มีส่วนร่วมให้มากก่อนจะเข้าสู่การลงมติของประชาชนก็จะช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการปฏิรูปที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญต้องเดินต่อไป โดยผู้ที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรมคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่สภาขับเคลื่อน เพราะสภาขับเคลื่อนไม่มีอำนาจในการบริหาร ไม่มีอำนาจในการจัดการ ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของคณะกรรมการทั้ง 21 คนไม่ได้ คสช. และรัฐบาลจะมีบทบาทอย่างมากว่ากระบวนการเรื่องรัฐธรรมนูญจากนี้ไปนั้นจะเป็นอย่างไรและเอื้อให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดีหรือไม่
ส่วนที่มีกระแสข่าวมีคำสั่งให้ สปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนมองว่าหากสามารถสั่งให้ สปช. ต้องผ่าน หรือ ประชามติต้องผ่านก็ไม่ต้องมีสปช. หรือมีประชามติก็ได้ เขียนอย่างไรก็เอาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราควรเคารพการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่วันนี้สิ่งที่บ้านเมืองต้องการไม่ใช่มาเล่นแง่เล่นมุมมีเหลี่ยมทางการเมืองกันอีกต่อไป 6 เดือนจากนี้ต้องใช้ให้เป็นโอกาสทองในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริงให้ได้ และจะเป็นการบ้านสำคัญสำหรับทั้งรัฐบาล และสภาขับเคลื่อนฯ ว่าทำอย่างไรใน 6 เดือน หรือ 1 ปีจากนี้ไปให้การปฏิรูปทุกด้านเป็นรูปธรรมปรากฎชัดมากขึ้น
ส่วนที่มองว่าการไม่ล้มร่างรัฐธรรมนูญเป็นเกมในการยืดอายุรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งรับจากนี้ไป 6 เดือนจะได้พิสูจน์ที่และแยกกันออกว่า ใครเสนอเพื่อประโยชน์ตัวเองหรือไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตัวเอง พวกตนไม่ได้เป็นปัญหาจะรออีก 6 เดือน หรืออาจจะนานกว่านั้น ถ้าได้สิ่งที่ดีสำหรับบ้านเมืองต่อไปในอนาคต แต่หากจะไม่มีกำหนดเลย หรือทำไปเรื่อยๆ กี่ปีๆ อย่างนี้คงไม่ได้ เพราะจะมีความเสียหายอีกด้านหนึ่งเกิดขึ้น จึงขอให้ทุกฝ่ายพักเรื่องการวิพากษ์ วิเคราะห์กันทางเมืองในช่วง 6 เดือน ให้เป็นเวลาของการวางระบบที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองในอนาคต แล้วทุกคนมาร่วมกันทำอย่างสร้างสรรค์
ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญว่าดีพอสมควรที่จะผ่านไปสู่ประชามติ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งนายสุเทพ และตน หรือพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงมีเป้าหมายไม่ต่างกันคือการปฏิรูปเพียงแต่เราประเมินต่างกันเท่านั้น ทาง กปปส.อาจจะมองว่าหลักประกันในเรื่องการปฏิรูปมันดีพอแล้ว แต่ที่ตนคุยเห็นว่าหลักประกันการปฏิรูปนั้นยังไม่มี มีแต่กลไกที่สามารถมาบังคับรัฐบาลต่อไปให้ทำอะไร หรือไม่ทำอะไรก็ได้ มากกว่าสาระการปฏิรูป และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง
นายอภิสิทธิ์ยังชี้แจงด้วยว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นตรงกับพรรคเพื่อไทยที่ให้โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่ามีเหตุผล หรือมีเจตนาเหมือนกัน สำหรับตนจะตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็นจะดูจากเนื้อหาสาระและคิดเอง อยากให้สังคมดูเหตุดูผล อย่าเอาความรู้สึกเพราะเป็นสาเหตุของปัญหาในชาติที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ ต้องอย่าใช้อารมณ์หรืออยู่กับกระแส ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเอาหลักการสำคัญมาวาง เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้อย่างรอบคอบมีสติ
iframe src="//www.facebook.com/plugins/likebox.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fpages%2Fastvpolitics%2F131777330175392%3Ffref%3Dts&width=292&height=290&colorscheme=light&show_faces=true&border_color&stream=false&header=true&appId=278873645476113" scrolling="no" frameborder="0" style="border:none; overflow:hidden; width:292px; height:290px;" allowTransparency="true">