xs
xsm
sm
md
lg

2 อดีต สปช.เตรียมชง 4 ข้อถาม “มีชัย” หวั่นซ้ำรอยเกิดวิกฤต รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“บุญเลิศ - นิมิต” เตรียมชง 4 ข้อถาม ปธ.กรธ. ข้องใจไม่มีกระบวนการประชาพิจารณ์ ใช้กลไกใดฟังความเห็น ปชช. ย้อน กรธ. ถกลับกันเองจะตีความ รธน. อย่างไร ไม่มีการอภิปรายก่อนมองร่างแบบไม่ถี่ถ้วน จะแก้ปมประชามติเมื่อใด คว่ำร่างจะทำไงต่อ หวั่นเกิดวิกฤต รธน. ซ้ำ

วันนี้ (24 ม.ค.) นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช. จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกจะเสร็จในวันที่ 29 มกราคมนี้ มีคำถามที่จะถาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 4 ข้อ คือ คำถามข้อที่ 1 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่มีการออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างแรกว่าจะดำเนินการกันอย่างไร

ย้อนไปดูการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 และ ปี 2550 มีการประชาพิจารณ์ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนขับเคลื่อนสำคัญ เมื่อมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แม้ไม่มีประชาพิจารณ์แต่ สปช. ก็ไปรับฟังประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เมื่อได้เสียงสะท้อนจากประชาชนแล้วก็นำเสนอข้อแก้ไขร่างให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานได้พิจารณา จากนั้น สปช. ก็ลงมติโดยถือเอาประชาธิปไตยและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นตัวตั้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ไม่มีกระบวนการประชาพิจารณ์ เพราะสภาขับเคลื่อนฯ (สปท.) ไม่เกี่ยวข้อง ทำให้เป็นที่กังวลว่า การรับฟังความคิดเห็นประชาชนของ กรธ. จะไม่เกิดประโยชน์ จนถึงขณะนี้ กรธ. ยังไม่ประกาศว่าแนวปฏิบัติในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนจะทำกันอย่างไร และใช้กลไกใดไปเชื่อมโยงกับประชาชนทั้งประเทศ

คำถามข้อที่ 2 การพิจารณาร่าง รธน. ของ กรธ. ที่ประชุมกันแค่ 21 คน ปิดห้องประชุมเสียส่วนใหญ่ หากมีปัญหาให้ต้องตีความบางคำ บางข้อความที่ความเคลือบคลุม ไม่ชัดเจนจะถือหลักตีความตามลายลักษณ์อักษรหรือเจตนารมณ์กันแบบไหน อย่างไร

คำถามข้อที่ 3 กระบวนการพิจารณาร่าง รธน. ไม่มีการอภิปรายในที่ประชุมสภาขับเคลื่อนฯแล้วลงมติเหมือน สปช. เมื่อ กรธ. ร่างเสร็จก็นำไปออกเสียงประชามติเลยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเท่ากับว่าผ่านร่าง รธน. ไปแบบไม่ถี่ถ้วน รอบคอบ

คำถามข้อที่ 4 จะแก้ไข รธน. ฉบับชั่วคราวเมื่อใด เนื่องจากประเด็นการออกเสียงประชามติ ที่ต้องแก้ไขจาก “เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์” เป็น “เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์” ยังค้างอยู่ รวมทั้งหากเสียงข้างมากของประชาชนคว่ำร่างในการออกเสียงประชามติ จะทำอย่างไร โรดแมปว่าด้วยการเลือกตั้งที่วางไว้จะขยายออกไปหรือไม่ และที่สำคัญ บ้านเมืองจะกลับไปสู่วังวนแห่งความขัดแย้งแตกแยกด้วยเหตุแห่ง “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” อีกหรือไม่

ในวันที่ 25 มกราคมนี้ นายบุญเลิศ และ นายนิมิต จะไปยื่นหนังสือถึงนายมีชัยเพื่อสอบถามถึงข้อสงสัยดังกล่าวโดยหวังว่า นายมีชัยจะตอบให้ทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น