xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"ชี้เกณฑ์ประชามติร่างรธน. ยึดเสียงข้างมากผู้ใช้สิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3ก.ย.) นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วมฯ กล่าวภายหลังการประชุมกกต.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการลงมติในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยเป็นการตรวจสอบร่างประกาศฯครั้งสุดท้าย ก่อนที่ประธาน กกต.จะได้นำไปส่งให้กับ สนช.ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ซึ่งในส่วนข้อกังวลของรองนายกรัฐมนตรี เรื่องการแสดงความเห็นผ่านโซเซียลมีเดียต่างๆ ที่ประขุมเห็นว่า กกต. คงไม่สามารถไปจำกัดความคิดเห็นเหล่านั้นได้ แต่ได้วางหลักเกณฑ์การแสดงความคิดเห็นที่ไว้ในร่างประกาศฯ 3 ข้อ คือ
1. สิ่งที่พูดออกไป ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ 2. อย่าใช้ถ้อยคำหยาบคาย ใส่ร้ายป้ายสี และ 3. ต้องไม่ยุยงปลุกปั่น ถ้ายึดหลัก 3 ข้อนี้แล้ว ก็ควรปล่อยให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
นายประวิช ยังกล่าวถึงวันลงประชามติว่า จากเดิมที่ระบุว่า จะเป็นวันที่ 10 ม.ค.59 นั้น เป็นเพียงกรอบการทำงานของกกต.ในเบื้องต้น เพราะเงื่อนไขในการกำหนดวันลงประชามติ กกต.จะประกาศอีกครั้ง หลังจากจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญ และสาระสำคัญไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 หรือประมาณ 13 ล้านครัวเรือน จาก 17 ล้านครัวเรือน ที่มีสิทธิออกเสียงประชามติแล้วเสร็จเสียก่อน โดยกกต.กำหนดแผนงานที่จะจัดส่งให้แล้วเสร็จปลายเดือนพ.ย.
แต่ทั้งนี้ กระบวนการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ กกต. ต้องการให้มีความโปร่งใสมากที่สุด จึงไม่สามารถที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้าง หรือพิมพ์ไว้ล่วงหน้าได้ เนื่องจากต้องรอผลการลงมติของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ก่อน ดังนั้นอาจทำให้การจัดส่งไปยังครัวเรือนต่างๆ ล่าช้าไปกว่าที่กำหนด หากแล้วเสร็จกลางเดือนธ.ค. วันออกเสียงประชามติ ก็ต้องเลื่อนจากวันที่ 10 ม.ค.59 ออกไปอีก 2 สัปดาห์
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการโต้เถียงเรื่องจำนวนเสียงประชาชนที่จะผ่านประชามติ และอยากให้ กกต.เขียนให้ขัดเจน ในร่างประกาศฯ นายประวิช กล่าวว่า ร่างประกาศฯที่เตรียมจะส่ง สนช. ไม่ได้มีการกำหนดในเรื่องนี้ และกกต.เห็นว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ใช่ส่วนที่กกต.ได้รับมอบหมาย กกต.จึงไม่ต้องไปตีความ กกต.มีหน้าที่เพียงจัดทำประชามติ และประกาศผลคะแนนออกเสียง จำนวนผู้มาออกเสียง และรายงานไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งการประกาศว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือยึดจากจำนวนผู้มาออกเสียง หรือ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามต่อว่า ในส่วนกกต.เห็นว่า จำนวนเสียงที่จะผ่านประชามติ ต้องยึดหลักเกณฑ์ใด นายประวิช กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2552 ให้ใช้เสียงข้างมาก ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ และการออกเสียงประชามติทั่งโลก ก็ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่ในกรณีนี้เป็นกติกาใหญ่ อยู่ในรัฐธรรมนูญ ขออนุญาตว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับ กกต.และไม่ขอกล่าวถึง”
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมกกต.ครั้งนี้ นายประวิช ได้เชิญ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในที่ปรึกษากฎหมายของกกต. มาให้ความเห็นในประเด็นความไม่ชัดเจน เกี่ยวกับจำนวนเสียงที่ร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านประชามติ ซึ่ง นายสุรพล มีความเห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ตอนยกร่าง เหตุใดผู้ยกร่างจึงต้องเขียนถ้อยคำให้วกวน และทำให้เกิดการตีความ ซึ่งที่ประชุมก็ได้มีการเสนอว่า จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องมีหนังสือไปยังหน่วยงานทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความให้ชัดเจน แต่ที่ประชุมก็เห็นว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ถือเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่ กกต. จะเสนอศาลรัฐธรรมนูญได้ เหมือนตอนที่มีปัญหาเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ที่ กกต.เห็นแย้งกับรัฐบาล ขณะเดียวกัน ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ กกต. มีหน้าที่เพียงผู้ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเท่านั้น ฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นที่ กกต.จะต้องเป็นผู้ทำเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน

** โยนปัญหาให้นายกฯ ตัดสิน

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่มีการออกมาตั้งข้อสังเกต เรื่องจำนวนเสียงที่จะผ่านประชามติ ว่า 1. ตามหลักสากลการออกเสียงประชามติของประเทศต่างๆ จะใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ ไม่มีประเทศใดใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงเลย 2. ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาตรา 9 ได้มีการกำหนดไว้ 2 กรณี โดยกรณีแรก คือการทำประชามติเพื่อหาข้อยุติ กำหนดว่า ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออก
เสียง ส่วนกรณีที่สอง เป็นการทำประชามติเพื่อให้คำปรึกษาหารือ ไม่มีผลผูกพันใดๆ หลังจากมีผลประชามติแล้ว ฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องนั้นจะทำเหมือนหรือต่างก็ได้ โดยกำหนดว่า ต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างจากหลักสากล เพราะมีความเข้มงวดมากกว่าโดยเฉพาะกรณีแรก
3.เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มีประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่า มีความเชื่อมโยงกัน คือให้มีการทำประชามติด้วยการออกประกาศ กกต.โดยผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกำหนดให้นำเฉพาะบทลงโทษของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้บังคับเท่านั้น ดังนั้น องค์ประกอบส่วนอื่นๆ ต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม หรือระบุไว้ในประกาศกกต.
ส่วนประเด็นที่กำลังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ในขณะนี้ว่า จะใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือผู้มาออกเสียงนั้น ตนมองว่ากรณีสามารถแยกออกเป็นสองประเด็นย่อยคือ 1. คำถามหลักว่า รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เกณฑ์ใดตัดสิน และ 2. คำถามพ่วงที่เพิ่มเติมมานั้น ใช้เกณฑ์ใดตัดสิน โดยรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37/1 เขียนไว้ชัดเจนว่า คำถามพ่วงนั้นใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ประชามติ แต่กรณีของคำถามหลัก มีประโยคในรัฐธรรมนูญที่แปลความหมายสับสน คือ มาตรา 37 วรรค 7 ที่ระบุว่า ในการออกเสียงประชามติ ผู้มี สิทธิออกเสียงต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และภายใต้บังคับมาตรา 37/1 ซึ่งประโยคที่ระบุว่า "และภายใต้บังคับมาตรา 37/1 " นั้น ฝ่ายที่ตีความหมายว่า ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ก็จะบอกว่าใช้แค่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงก็ได้ เพราะมี มาตรา 37/1 บังคับอยู่ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ผลประชามติครั้งนี้ต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง โดยอ้างประโยคที่ระบุว่า " ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ" ดังนั้น ประเด็นนี้จึงยังไม่มีความชัดเจน ซึ่ง กกต.เห็นว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ กกต. จะต้องมาตอบคำถามกับสังคม เนื่องจากหน้าที่ของกกต. คือการจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความเห็นได้เท่าเทียมกัน และเมื่อได้ผลประชามติแล้ว กกต.ก็จะนำผลตัวเลขของการทำประชามติรายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ จากนั้นหน้าที่ของนายกฯ คือต้องพิจารณาว่า เมื่อตัวเลขออกมาแบบนี้ผลประชามติ จะเป็นการรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

** "วิษณุ"ให้ยึดเสียงข้างมากผู้มาใช้สิทธิ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งข้อสังเกตรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรค 7 ที่ระบุว่า การออกเสียงประชามติ ให้ยึดเสียงข้างมากของ"ผู้มีสิทธิ" ออกเสียง หมายความว่า เสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของ"ผู้มีสิทธิ" ไม่ใช่ "ผู้มาใช้สิทธิ" ว่า เขาเข้าใจคนละอย่างกับที่ตนเข้าใจ ยอมรับว่า ถ้อยคำทำให้ดูมีปัญหา โดยใน มาตรา 37 เขาใช้คำว่า "ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบ" ทีนี้มีคนไปอ่านบอกว่า เขาไม่ได้ใช้คำว่า "ผู้มาใช้สิทธิ์" เสียงข้างมากจึงเป็นเสียงของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด สมมุติ มีผู้มีสิทธิ์จำนวน 40 ล้านคน จะต้องใช้เสียงเห็นชอบเกิน 20 ล้านคน ร่างรัฐธรรมนูญถึงจะผ่าน มีคนแปลความอย่างนั้น ซึ่งก็แปลได้ แต่แปลอย่างนั้นคงยาก เพราะว่าสมมุติมี 40 ล้านคน แล้วออกมาใช้สิทธิ์ 10 ล้านคน เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 7 ล้านคน ซึ่งไม่ถึงเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ 40 ล้านคน แต่เป็นเสียงข้างมาก ของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ ถามว่าคุณพูดได้อย่างไรว่า อีกสิบกว่าล้านเสียงที่ไม่มา จะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ
"ดังนั้นต้องถือว่า เสียงของผู้ที่ไม่ได้มานั้น เป็นศูนย์ และต้องมาวัดกันตรง 10 ล้านคนที่ออกมาใช้สิทธิ ที่ต้องย้ำแบบนี้เพราะว่า เราไม่สามารถจะพูดได้ว่า คนที่มีสิทธิ แต่ไม่มาใช้สิทธิ เขาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ จะบอกว่าการที่เขามีสิทธิ แต่ไม่มาใช้สิทธิ แปลว่า เขาไม่เห็นชอบ ถ้าพูดอย่างนั้น มันจะมากกว่า 7 ล้านคน แต่พูดอย่างนั้นไม่ได้ การไม่ได้มาใช้สิทธิ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เห็นชอบ และไม่รู้แปลว่าอะไร แต่ที่แปลได้แน่ๆ คือ คนที่มาใครมากกว่ากัน วันนั้นมาเท่าไหร่ ให้ยึดเสียงข้างมาก" นายวิษณุ กล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า ตอนลงประชามติ รัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้คำเหมือนคราวนี้ เพียงแต่ครั้งนั้นเขาใช้คำละเอียดกว่า ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ. 2552 เขียนว่า ในการลงประชามติจะต้องให้มีผู้มาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ จึงจะเรียกว่าเป็นการใช้สิทธิ์ที่ถูกต้อง มิฉะนั้นการทำประชามตินั้นโมฆะ เหตุนี้เราถึงไม่เอา พ.ร.บ.ดังกล่าวมาใช้ เอามาแต่เฉพาะโทษเท่านั้น และเขียนเรื่องประชามติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทน ซึ่งการที่เขาไม่เอา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้ ก็เพราะเจตนาให้เป็นอีกแบบหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงไม่เขียนให้ชัดเจนระหว่าง"ผู้มีสิทธิ" กับ"ผู้มาใช้สิทธิ" นายวิษณุ กล่าวว่า เทคนิคการเขียนกฎหมายมีหลายวิธี แต่โดยมากเวลาเกิดเรื่องแล้วจึงมาบอกว่า ทำไมไม่เขียนให้ชัด ซึ่งตอนเขียนก็นึกว่าชัดไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น