xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ยกร่างประชามติ ชงที่ประชุม 29 มิ.ย.ห้ามถามเกิน 3 ข้อ ไม่เกี่ยว รธน.ไร้ผลผูกพัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการกกต. (แฟ้มภาพ)
รองเลขาฯ กกต.เผยยกร่างประกาศประชามติเรียบร้อย ก่อนปรับแก้ชงที่ประชุม 29 มิ.ย. แจงให้ตั้งไม่เกิน 3 คำถาม แยกบัตร-หีบตามคำถาม ไม่มีช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ให้ใช้สิทธิวันเดียวทั่วประเทศ งดออกเสียงล่วงหน้า-นอกไทย ใช้ 10 คนคัดค้าน ยังไม่กำหนดการรณรงค์หาเสียง รอยกร่างผ่าน สนช.ก่อน ชี้ประเด็นที่ถามไม่เกี่ยว รธน. ไม่มีผลผูกพัน แค่นำไปประกอบการตัดสินใจ

วันนี้ (25 มิ.ย.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการยกร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้ยกร่างประกาศดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีข้อสังเกตในบางเรื่องซึ่งก็จะมีการไปปรับแก้และเสนอต่อที่ประชุม กกต.วันที่ 29 มิ.ย.นี้ เพื่อที่เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กกต.ก็จะได้นำเสนอประกาศดังกล่าว ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ในร่างประกาศที่สำนักงานยกร่างขึ้นจะอยู่บนพื้นฐานว่าคำถามที่จะมีการทำประชามติจะมีทั้งสิ้นไม่เกิน 3 คำถามตามที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดไว้และแบ่งออกเป็นทั้งสิ้น 10 หมวด 30 ข้อ อาทิ หมวดว่าด้วยการหน่วยออกเสียงประชามติ บัญชีผู้มีสิทธิออกเสียง การลงคะแนนออกเสียง การนับคะแนนออกเสียง การเผยแพร่ จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดยจะเป็นการกำหนดกรอบเนื้อหากว้างๆ อาทิ บัตรออกเสียงและหีบบัตรออกเสียง กำหนดให้แยกตามจำนวนคำถามที่จะมีการทำประชามติ โดยบัตรออกเสียงจะไม่มีช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ดังนั้นถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ใช้สิทธิกาในช่องเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ถือว่าเป็นบัตรเสีย ส่วนวันออกเสียงประชามติกำหนดให้เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ โดยงดการออกเสียงนอกราชอาณาจักร และงดการลงคะแนนออกเสียงล่วงหน้า แต่จัดให้มีการลงคะแนนออกเสียงนอกเขตจังหวัดในวันออกเสียงประชามติ ส่วนการคัดค้านการออกเสียงประชามติกำหนดไว้ใน 2 ประเด็น คือเรื่องการคัดค้านการออกเสียงให้ผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวน 10 คนยื่นร้องคัดค้านได้ แต่หากการคัดค้านไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงผลประชามติก็ไม่ต้องจัดให้มีการลงประชามติใหม่

นายบุณยเกียรติกล่าวอีกว่า ในร่างประกาศจะไม่มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการณรงค์ออกเสียงประชามติ ว่าผู้ที่จะรณรงค์ต้องมาขึ้นทะเบียนกับกกต.หรือไม่ รวมทั้งการจัดสรรเวลาการรณรงค์ออกเสียง เพราะรายละเอียดดังกล่าวจะมีการกำหนดไว้ในระเบียบของ กกต.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ทางสำนักงาน จะมีการดำเนินการยกร่างต่อไปหลังจากที่ประกาศฉบับดังกล่าวผ่านการเห็นชอบของ สนช.แล้ว ส่วนวันออกเสียงประชามติแม้กกต.จะกำหนดเบื้องต้นเป็นวันที่ 10 ม.ค. 2559 แต่ทั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาถึงขั้นตอนของการจัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญไปยังผู้มีสิทธิออกเสียง 19 ล้านคน ถ้าสามารถเผยแพร่ได้ไม่น้อยกว่า 80% หลังวันเผยแพร่ไม่เกิน 30-45 วัน ก็จะสามารถจัดการออกเสียงประชามติได้ ดังนั้นถ้ามีการดำเนินการได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการออกเสียงประชามติ อย่างไรก็ตามประเด็นในการจัดทำประชามติ แม้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2557 จะกำหนดให้มีการทำประชามติมากกว่า 1 ประเด็น แต่หากประเด็นที่ถามไม่ได้เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีผลผูกพันธ์ ให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติตาม

“ประเด็นหลักที่จะมีการถามก็คือจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนประเด็นรองหากถามเกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ควรจะมีนายกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ ถ้าประชาชนมีความเห็นเป็นอย่างไรก็จะมีผลให้กรรมาธิการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามผลประชามติ แต่ถ้าเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ถามเรื่อง กาสิโน ให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปี หรือปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ถ้าผลประชามติเป็นอย่างไรกฎหมายไม่ได้บังคับว่ารัฐต้องปฏิบัติตาม แต่ผลประชามติจะเหมือนเป็นข้อมูลให้รัฐบาลใช้ประกอบในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น” นายบุณยเกียรติกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น