xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ไม่ยุ่งคำนวณประชามติ รธน.ผ่านไม่ผ่าน บอกหน้าที่แค่จัดโหวต ชี้คอมเมนต์ข้อเท็จจริงไม่ยุยงได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
กรรมการการเลือกตั้งเผยที่ประชุมตรวจสอบร่างประกาศหลักเกณฑ์ออกเสียงประชามติ ก่อนชง สนช.7 ก.ย.นี้ ชี้หลักแสดงความเห็นเป็นข้อเท็จจริง กฎหมายที่เกี่ยวข้องทำได้ อย่าหยาบ ป้ายสี ยุยงปลุกปั่น ระบุวันโหวตต้องดูหลังจัดส่งร่างฯ ไปสู่ผู้มีสิทธิเสร็จ ไม่ยุ่งประเด็นจำนวนแบบไหนถึงผ่าน ด้านอดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์งงทำไมเขียนให้วกวน

วันนี้ (3 ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้งด้านการมีส่วนร่วมฯ กล่าวภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงมติในวันที่ 6 กันยายนนี้ โดยเป็นการตรวจสอบร่างประกาศฯ ครั้งสุดท้ายก่อนที่ประธาน กกต.จะได้นำไปส่งให้แก่ สนช.ในวันจันทร์ที่ 7 กันยายนนี้ ในส่วนข้อกังวลของรองนายกรัฐมนตรีเรื่องการแสดงความเห็นผ่านโซเซียลมีเดียต่างๆ ที่ประชุมเห็นว่า กกต.คงไม่สามารถไปจำกัดความคิดเห็นเหล่านั้นได้ แต่ได้วางหลักเกณฑ์การแสดงความคิดเห็นที่ไว้ในร่างประกาศฯ 3 ข้อ คือ 1. สิ่งที่พูดออกไป ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ 2. อย่าใช้ถ้อยคำหยาบคาย ใส่ร้ายป้ายสี และ 3. ต้องไม่ยุยงปลุกปั่น ถ้ายึดหลัก 3 ข้อนี้แล้วก็ควรปล่อยให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

นายประวิชยังกล่าวถึงวันลงประชามติว่า จากเดิมที่ระบุว่าจะเป็นวันที่ 10 มกราคม 2559 นั้น เป็นเพียงกรอบการทำงานของ กกต.ในเบื้องต้น เพราะเงื่อนไขในการกำหนดวันลงประชามติ กกต.จะประกาศอีกครั้งหลังจากจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญและสาระสำคัญไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 หรือประมาณ 13 ล้านครัวเรือน จาก 17 ล้านครัวเรือนที่มีสิทธิออกเสียงประชามติแล้วเสร็จเสียก่อน โดย กกต.กำหนดแผนงานที่จะจัดส่งให้แล้วเสร็จปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ทั้งนี้กระบวนการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ กกต.ต้องการให้มีความโปร่งใสมากที่สุด จึงไม่สามารถที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้างหรือพิมพ์ไว้ล่วงหน้าได้ เนื่องจากต้องรอผลการลงมติของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ก่อน ดังนั้นอาจทำให้การจัดส่งไปยังครัวเรือนต่างๆ ล่าช้าไปกว่าที่กำหนด หากแล้วเสร็จกลางเดือนธันวาคม วันออกเสียงประชามติก็ต้องเลื่อนจากวันที่ 10 มกราคมออกไปอีก 2 สัปดาห์

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการโต้เถียงเรื่องจำนวนเสียงประชาชนที่จะผ่านประชามติ และอยากให้ กกต.เขียนให้ขัดเจนในร่างประกาศฯ นายประวิชกล่าวว่า ร่างประกาศฯ ที่เตรียมจะส่ง สนช.ไม่ได้มีการกำหนดในเรื่องนี้ และ กกต.เห็นว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ใช่ส่วนที่ กกต.ได้รับมอบหมาย กกต.จึงไม่ต้องไปตีความ กกต.มีหน้าที่เพียงจัดทำประชามติและประกาศผลคะแนนออกเสียง จำนวนผู้มาออกเสียง และรายงานไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งการประกาศว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือยึดจากจำนวนผู้มาออกเสียงหรือ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามต่อว่า ในส่วน กกต.เห็นว่าจำนวนเสียงที่จะผ่านประชามติต้องยึดหลักเกณฑ์ใด นายประวิชกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ประชามติปี 2552 ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ และการออกเสียงประชามติทั่วโลกก็ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่ในกรณีนี้เป็นกติกาใหญ่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ขออนุญาตว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับ กกต.และไม่ขอกล่าวถึง”

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม กกต.วันนี้ นายประวิชได้เชิญนายสุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.มาให้ความเห็นในประเด็นความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนเสียงที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ ซึ่งนายสุรพลมีความเห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าตอนยกร่างฯ เหตุใดผู้ยกร่างจึงต้องเขียนถ้อยคำให้วกวนและทำให้เกิดการตีความ ซึ่งที่ประชุมก็ได้มีการเสนอว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีหนังสือไปยังหน่วยงานทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความให้ชัดเจน แต่ที่ประชุมก็เห็นว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ถือเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่กกต.จะเสนอศาลรัฐธรรมนูญได้เหมือนตอนที่มีปัญหาเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ที่ กกต.เห็นแย้งกับรัฐบาล ขณะเดียวกันตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ กกต.มีหน้าที่เพียงผู้ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเท่านั้น ฉะนั้นก็ไม่จำเป็นที่ กกต.จะต้องเป็นผู้ทำเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น