xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รธน.ชั่วคราว หมกเม็ด"ผลโหวต"คว่ำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (2 ก.ย.) นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสปช. กล่าวถึงการทำประชามติ ว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับขั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรค 7 ระบุว่า การออกเสียงประชามติ ให้ยึดเสียงข้างมากของ“ผู้มีสิทธิ์”ออกเสียง หมายความว่าการคำนวณในการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คือ เสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของ “ผู้มีสิทธิ์”ไม่ใช่ “ผู้มาใช้สิทธิ์”ซึ่งขณะนี้ “ผู้มีสิทธิ์”มีจำนวน 47 ล้านคน หากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องได้เสียง 23.5 ล้านเสียง หากเทียบกับผลประชามติเก่า เมื่อปี 2550 พบว่า มีประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเพียง 14 ล้านเสียงเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าใช้ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ จะเป็นเรื่องยากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ เนื่องจากสองพรรคการเมืองใหญ่ก็ออกมารณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงเกิดคำถามว่า จะเอา 23 ล้านเสียงมาจากไหน โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติไม่มีเลยพันเปอร์เซ็นต์
นายนิรันดร์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ สปช. เมื่อมองเห็นว่าอนาคต รถคันนี้กำลังจะลงเหว คนที่จะขับต่อ คือคนปัญญาอ่อน คนสติไม่ดี และจะฆ่าตัวตายเท่านั้น จึงต้องการให้สปช. มีมติร่วมกัน ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในภายหลัง จะเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ และขอเรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 37 วรรค 7 จากคำที่กำหนดว่า “ผู้มีสิทธิ์”มาเป็น“ผู้มาใช้สิทธิ์”
ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะกฎหมายมหาชน ต้องตีความตามตัวอักษร คิดว่า สนช. น่าจะเผลอในขั้นตอนการพิจารณา ดังนั้น จึงอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะหากปล่อยให้ดำเนินการลงมติจะมีผู้ออกมาคัดค้านว่ากระบวนการไม่ถูกต้องได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นายนิรันดร์ พันธกิจ ออกมาตั้งข้อสังเกตดังกล่าวนี้ ทำให้เป็นที่ถกเถียงกันในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ โดยฝ่ายปฏิบัติของสำนักงาน กกต. ได้มีการนำเสนอต่อกกต. ว่า ถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2557 มาตรา 37 วรรค 7 นั้น ยากที่จะตีความเป็นอย่างอื่นได้ นอกจาก ร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านประชามติ ต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ประมาณคร่าวๆ ว่ามีอยู่ราวเกือบ 50 ล้านคน เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2557 มาตรา 37 วรรค 7 บัญญัติ ว่า ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ
แตกต่างจาก รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 31 ที่รัฐบาลในฐานะผู้ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อ้างว่า นำมาเป็นหลักในการยกร่าง มาตรา 37 วรรค 7 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไขเพิ่เติม 2557 โดยในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 31 บัญญัติชัดเจนว่า
“ในการออกเสียงประชามติ ถ้าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย" จึงเห็นว่า การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติได้ ต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง
อย่างไรก็ตาม ความไม่ชัดเจนดังกล่าว ยังพันไปถึงการที่ท้าย มาตรา 37 วรรค 7 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติม 2557 บัญญัติกรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่านมติประชามติ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐ ธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ
โดย กกต.เห็นว่า ถ้าไม่มีการถกเถียง หรือแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้ชัดเจนว่า จำนวนเสียงที่จะถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติควรเป็นเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ หรือเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง แล้วเกิดข้อโต้แย้งในภายหลัง หาก กกต.จะเป็นผู้ประกาศผลการออกเสียง จะทำให้ กกต.ยากที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ถ้ามีการฟ้องร้องตามมา
ขณะเดียวกัน เมื่อคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ส่งเรื่องให้มีการจัดทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ อำนาจในการประกาศผลการออกเสียงควรเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่กกต. จึงได้มีการบัญญัติไว้ใน ร่างประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการออกเสียงประชามติ ข้อ 52 ว่า ให้ กกต. รายงานผลการออกเสียงและจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น