“สปช.นิรันดร์” ตั้งข้อสังเกต รธน.ชั่วคราวประชามติยึดเสียงข้างมาก “ผู้มีสิทธิ” ออกเสียง ร่างฯ ผ่านต้องใช้กว่า 23 ล้านเสียงเป็นเรื่องยาก ยิ่ง 2 พรรคใหญ่ขู่คว่ำร่าง เปรียบรถกำลังลงเหว สะกิด สปช.ขับต่อคงฆ่าตัวตาย แนะ สนช.แก้จาก “ผู้มีสิทธิ” เป็น “ผู้มาใช้สิทธิ” ก่อนถึงมีการลงมติ
วันนี้ (2 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการทำประชามติว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรค 7 ระบุว่าการออกเสียงประชามติให้ยึดเสียงข้างมากของ “ผู้มีสิทธิ” ออกเสียง หมายความว่าการคำนวณในการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คือ เสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของ “ผู้มีสิทธิ” ไม่ใช่ “ผู้มาใช้สิทธิ” ซึ่งขณะนี้ “ผู้มีสิทธิ” มีจำนวน 47 ล้านคน หากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านต้องได้เสียง 23.5 ล้านเสียง หากเทียบกับผลประชามติเก่าเมื่อปี 2550 พบว่า มีประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเพียง 14 ล้านเสียงเท่านั้น ดังนั้น ถ้าใช้ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้จะเป็นเรื่องยากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ เนื่องจากสองพรรคการเมืองใหญ่ก็ออกมารณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงเกิดคำถามว่าจะเอา 23 ล้านเสียงมาจากไหน โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติไม่มีเลยพันเปอร์เซ็นต์
นายนิรันดร์กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวจึงขอเรียกร้องให้ สปช.ว่าเมื่อมองเห็นว่าอนาคตรถคันนี้กำลังจะลงเหว คนที่จะขับต่อคือคนปัญญาอ่อน คนสติไม่ดี และจะฆ่าตัวตายเท่านั้น จึงต้องการให้ สปช.มีมติร่วมกันไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในภายหลังจะเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ และขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 37 วรรค 7 จากคำที่กำหนดว่า “ผู้มีสิทธิ” มาเป็น “ผู้มาใช้สิทธิ” ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะกฎหมายมหาชนต้องตีความตามตัวอักษร คิดว่า สนช.น่าจะเผลอในขั้นตอนการพิจารณา ดังนั้นจึงอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะหากปล่อยให้ดำเนินการลงมติจะมีผู้ออกมาคัดค้านว่ากระบวนการไม่ถูกต้องได้