xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ระบุหลักสากล ยึดเสียงข้างมากจากผู้มาลงประชามติ แต่ให้ “ประยุทธ์” ตัดสินผ่าน-ไม่ผ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุตามหลักสากลยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเป็นเกณฑ์ผ่านประชามติ ระบุรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขปี 2557 ไม่มีความชัดเจน แต่ที่สุด กกต. ก็ทำได้แค่จัดประชามติ แล้วนำผลตัวเลขรายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ส่วนผ่าน - ไม่ผ่านให้เจ้าตัวตัดสินเอง

วันนี้ (3 ก.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่มีการออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องจำนวนเสียงที่จะผ่านประชามติ ว่า 1. ตามหลักสากลการออกเสียงประชามติของประเทศต่าง ๆ จะใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ ไม่มีประเทศใดใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงเลย

2. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาตรา 9 ได้มีการกำหนดไว้ 2 กรณี โดยกรณีแรกคือการทำประชามติเพื่อหาข้อยุติ กำหนดว่า ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง ส่วนกรณีที่สองเป็นการทำประชามติเพื่อให้คำปรึกษาหารือไม่มีผลผูกพันใด ๆ หลังจากมีผลประชามติแล้วฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องนั้นจะทำเหมือนหรือต่างก็ได้ โดยกำหนดว่า ต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างจากหลักสากลเพราะมีความเข้มงวดมากกว่าโดยเฉพาะกรณีแรก

3. เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มีประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกัน คือ ให้มีการทำประชามติด้วยการออกประกาศ กกต. โดยผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกำหนดให้นำเฉพาะบทลงโทษของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้บังคับเท่านั้น ดังนั้น องค์ประกอบส่วนอื่น ๆ ต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม หรือระบุไว้ในประกาศ กกต.

ส่วนประเด็นที่กำลังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ในขณะนี้ ว่า จะใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือผู้มาออกเสียงนั้น ตนมองว่า กรณีสามารถแยกออกเป็นสองประเด็นย่อย คือ 1. คำถามหลักว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช้เกณฑ์ใดตัดสิน และ 2. คำถามพ่วงที่เพิ่มเติมมานั้น ใช้เกณฑ์ใดตัดสิน โดยรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37/1 เขียนไว้ชัดเจนว่าคำถามพ่วงนั้นใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ แต่กรณีของคำถามหลักมีประโยคในรัฐธรรมนูญที่แปลความหมายสับสน คือ มาตรา 37 วรรคเจ็ด ที่ระบุว่า ในการออกเสียงประชามติ ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และภายใต้บังคับมาตรา 37/1 ซึ่งประโยคที่ระบุว่า “และภายใต้บังคับมาตรา 37/1” นั้น ฝ่ายที่ตีความหมายว่าใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงก็จะบอกว่าใช้แค่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงก็ได้เพราะมีมาตรา 37/1 บังคับอยู่

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าผลประชามติครั้งนี้ต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง โดยอ้างประโยคที่ระบุว่า “ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น ประเด็นนี้จึงยังไม่มีความชัดเจน ซึ่ง กกต. เห็นว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ กกต. จะต้องมาตอบคำถามกับสังคม เนื่องจากหน้าที่ของ กกต. คือ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ครบถ้วนสมบูรณ์รวมทั้งให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความเห็นได้เท่าเทียมกัน และเมื่อได้ผลประชามติแล้ว กกต. ก็จะนำผลตัวเลขของการทำประชามติรายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ จากนั้นหน้าที่ของนายกฯ คือ ต้องพิจารณาว่าเมื่อตัวเลขออกมาแบบนี้ผลประชามติจะเป็นการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น