แหล่งข่าว กกต. เผยความไม่ชัดเจนเรื่องเกณฑ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คาดอาจมีผู้ไปฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนทูลเกล้าฯ ว่า นายกฯ กระทำการโดยไม่ชอบ ระบุหากเป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงก็ต้องตีตกไปร่างมาใหม่
วันนี้ (3 ก.ย.) แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นว่า กรณีความไม่ชัดเจนเรื่องเกณฑ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะเกิดเป็นปัญหาเมื่อมีการลงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว และถ้าผลการออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง คือ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ นายกรัฐมนตรีกำลังจะทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย อาจมีผู้ไปฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ ว่า นายกฯ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 ที่ระบุว่า “ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ” หรือไม่
เช่น สมมติผลการออกเสียงประชามติออกมาว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงมีทั้งสิ้น 50 ล้านคน มีผู้มาออกเสียง 40 ล้านคน มีเสียงเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน 21 ล้านเสียง นายกฯ กำลังจะทูลเกล้าฯ คนก็จะร้องว่าทำขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เพราะมาตรา 37 กำหนดต้องผู้มีสิทธิออกเสียงโดยเสียงข้างมาก นายกฯ ถึงจะทูลเกล้าฯ ได้ ฉะนั้น จะทูลเกล้าฯ ได้ต้องมีเสียงเห็นชอบให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 25 ล้านเสียงขึ้นไป ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นผู้วินิจฉัย ถ้าศาลวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญให้ใช้เสียงข้างมากผู้มาออกเสียง นายกฯ ก็นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาก็ต้องตกไป และไปเริ่มกระบวนการยกร่างใหม่โดยกรรมาธิการยกร่างฯ 21 คน ที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นใหม่