กกต. ยอมรับให้นักศึกษาวิชาทหารช่วยเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ ต้องขอบคุณด้วยซ้ำที่เสียสละมาช่วย เหมือนกับที่ลูกเสืออาสา กกต. ทำมาแล้ว ด้านที่ประชุมเคาะข้อเสนอ กรธ. ชงเพิ่มบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 50 ในกฎหมายใหม่ พร้อมเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. กำหนดโทษประชามติ เตรียมชงรัฐบาล 10 ก.พ. นี้ อีกด้านฟ้องหมิ่นประมาท “ภุชงค์” เพิ่ม หลังหมิ่นเรื่องตั้งที่ปรึกษา - เลขาฯ ประจำตัว กกต.
วันนี้ (9 ก.พ.) นายประวิช รัตนเพียร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า กรณีมีกระแสข่าวว่า รัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำนักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) มาเคลื่อนไหวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันใช้สิทธิในการออกเสียงประชามติ ทำให้เกรงว่าจะเป็นการชี้นำ หรือกดดันประชาชนผู้ที่จะไปออกเสียงประชามตินั้น ที่มาของเรื่องนี้สืบเนื่องจาก กกต. พิจารณาเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ได้กำหนดให้ กกต. มีหน้าที่ต้องเผยแพร่สาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงกระบวนการขั้นตอนในการออกเสียงประชามติที่ถูกต้อง กกต. จึงได้พยายามใช้ทุกช่องในการสื่อสารความเข้าใจสู่ประชาชนให้มากที่สุด
จากเหตุนี้ กกต. จึงได้ขอความร่วมมือจากหน่วยบัญชาการอาสารักษาดินแดน ซึ่งมีโครงการ ร.ด. จิตอาสา และมีการรวมตัวกันทำประโยชน์ให้กับสังคมอยู่แล้วจำนวนหลายหมื่นคน มาร่วมกันทำประโยชน์เพื่อบ้านเมืองอีกลักษณะหนึ่ง โดยทาง กกต. จะทำการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญตามที่ทาง กรธ. ได้จัดส่งมาให้ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติและระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่พี่น้องประชาชนควรได้รับทราบจะได้ไม่กระทำผิดกฎหมายในการออกเสียงประชามติ ซึ่ง ร.ด. จิตอาสา หรือนักศึกษาวิชาทหารเหล่านี้จะเป็นสื่อบุคคลที่มีคุณภาพ มีความรู้ออกไปกระตุ้นเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิอย่างเข้าใจ
“เราอยากให้พี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิกันอย่างมีคุณภาพ ก่อนจะก้าวเท้าออกจากบ้านให้ท่านได้มีโอกาสอ่าน และเข้าใจสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าใจแล้วพี่น้องประชาชนจะตัดสินใจอย่างไรก็เป็นไปโดยอิสระ สาระสำคัญก็เป็นกลางจัดทำขึ้น โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดเผยแพร่โดยทั่วไปจะว่าไปชี้นำได้อย่างไร เราเองเสียอีก ต้องขอขอบคุณ ร.ด. ด้วยซ้ำที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่ยอมเสียสละออกมาช่วยการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ ในวันออกเสียงประชามติ กกต. ยังจะขอให้น้อง ๆ ร.ด. จิตอาสาเหล่านี้ยังจะไปช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ไปใช้สิทธิบริเวณหน้าหน่วยออกเสียงประชามติ ช่วยเหลือผู้พิการ ผู้สูงอายุ เหมือนกับที่ลูกเสืออาสา กกต. ทำมาแล้ว ไม่เห็นจะมีอะไรที่เสียหายเลยไม่ใช่ไม่เคยทำ” นายประวิช กล่าว
ด้าน นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงวุฒิ สำนักงาน กกต. แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต. มีมติให้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของ กกต. เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นหลัก ๆ คือ 1. บทบัญญัติตามมาตรา 99 ที่มีการกำหนดว่าหากมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ให้ กกต. มีอำนาจประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในหน่วยที่มีปัญหาได้ ซึ่ง กกต. เห็นว่าการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ วิธีการรองรับ จึงควรเพิ่มข้อความว่าให้ใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ด้วย
2. ขอให้เพิ่มอำนาจ กกต. ในการควบคุม สั่งการข้าราชการในกรณีที่ข้าราชการได้กระทำการทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือการที่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยพรรคการเมืองหาเสียงนั้น ให้ กกต. มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการเหล่านั้นหยุดพฤติกรรมดังกล่าว รวมทั้งสามารถสั่งให้ข้าราชการออกนอกพื้นที่เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตได้
3. ขอให้บัญญัติข้อความกรณีการวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของ กกต. ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เคยกำหนดไว้ 4. ขอให้กรรมการร่างฯ เพิ่มข้อความในมาตรา 80 เพื่อเปิดช่องให้มีการเลือกตั้งรูปแบบอื่นในอนาคตด้วย โดยควรเพิ่มข้อความว่า ให้มีการเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้งและรูปแบบอื่น ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เคยกำหนดไว้
5. การจัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง ควรกำหนดระยะเวลาว่าสภาจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 180 วัน จึงให้มีการจัดเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง เพราะหากไม่มีการกำหนดแล้วมีตำแหน่งว่าง และสภามีอายุเหลือเพียง 1 เดือน กกต. ก็จะต้องดำเนินการจัดเลือกตั้งแทน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ และ 6. ขอให้ กกต. มีอำนาจในการสั่งเลือกตั้งใหม่ และสั่งระงับสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง จนถึงหลังการประกาศผลการเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ กกต. เตรียมเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เช่น การให้อำนาจ กกต. ในการเรียกบุคคลมาให้ข้อมูล การเรียกเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และสามารถบันทึกภาพ และภาพเคลื่อนไหวในขึ้นตอนการไต่สวนของ กกต. ได้ รวมทั้งการดำเนินคดีเลือกตั้งขอให้ยึดสำนวนการไต่สวนของ กกต. เป็นหลัก และให้ กกต. มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ที่ยังคงค้างชำระค่าเสียหายการจัดเลือกตั้ง จากกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบแดง) แม้คดีจะยังไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ กกต. จะทำการรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อ กรธ. ภายในสัปดาห์หน้า
ในการประชุม กกต. ยังได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ใช้ควบคุมการออกเสียงประชามติและมีการกำหนดบทลงโทษในการทำประชามติ โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเนื้อหามาจาก พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552, พ.ร.บ. ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2550 และมีการพิจารณาเพิ่มเติมกำหนดความผิดและบทลงโทษที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่มีการระบุไว้ด้วย โดยจะมีการนำเสนอต่อรัฐบาลในการหารือร่วมกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในการหารือร่วมกันในวันที่ 10 ก.พ. นี้ด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต. มีมติให้ดำเนินคดีต่อ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต. ในฐานความผิดหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 และมาตรา 328 ตามประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มเติมจากกรณีที่นายภุชงค์ให้สัมภาษณ์ว่ามีการแต่งตั้งที่ปรึกษา และเลขานุการประจำตัวกรรมการ กกต. ซึ่งรวมแล้วกว่า 20 คน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนกว่า 2 ล้านบาท หรือประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี ที่ กกต. เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท และจะมอบหมายสำนักกฎหมายและคดี สำนักงาน กกต. ไปดำเนินการต่อไป