xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ยันมีเลือกตั้งปี 60 แน่ ชี้ สนช.ถามพ่วงต่างจากเนื้อหา รธน.ได้ ถ้าผ่านต้องปรับแก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ ยืนยันมีเลือกตั้งในปี 2560 แน่ ส่วนที่บอกว่าอาจมีเซอร์ไพรส์ให้ดูที่กฎหมายหลูก 4 ฉบับอาจเสร็จกว่าที่กำหนด ระบุหากประชามติไม่ผ่าน ต้องแก้ รธน.ชั่วคราว ทางออกหากประชามติไม่ผ่าน เผย สนช.ถามพ่วงต่างจากเนื้อหา รธน.ได้ ถ้าประชาชนเอาด้วย กรธ.ต้องปรับแก้ตามประชามติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวันเลือกตั้งหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่า ยังไม่มีใครรู้ เนื่องจากต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับก่อน ไม่ทราบว่าจะเสร็จเมื่อใด แต่ไม่ช้า ไม่ต้องกลัวเพราะต้องหยิบ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาพิจารณาก่อนฉบับอื่นๆ โดยจะเสร็จในช่วง 1-2 เดือนแรก แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 เดือน และส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าเร็วเพราะมีวิธีที่จะประสานให้เร็วได้ คือ ร่างไปส่งไป จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตรงนี้จะต้องมีระยะเวลาที่สำนักราชเลขาธิการจะไปดำเนินการ เมื่อเสร็จครบ 4 ฉบับจะเริ่มนับหนึ่งการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 150 วัน ดังนั้น การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ตามโรดแมปภายในปี 60 แต่จะมาคาดคั้นให้ได้เดือน ก.ค. 60 ไม่ได้ เพราะมีขั้นตอนอยู่

ส่วนที่ระบุว่าจะมีเซอร์ไพรส์ในการเรื่องการทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตนหมายความกรณีที่มีคนไปคิดกันว่าทุกอย่างมันจะล่าช้าไปจนกระทั่งถึงปี 2561 โดยไปคิดกันเองว่าต้องใช้เวลาทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 8 เดือน แต่กลับไม่คิดว่า 4 ฉบับนั้นจะต้องเสร็จก่อน 8 เดือน ดังนั้น ตนถึงบอกว่าเขาได้เตรียมการอะไรกันไว้พอสมควรที่จะทำให้มันเร็ว แล้วมันอาจจะเร็วเกินกว่าที่คิด ตนจึงใช้คำว่าอาจจะเมีเซอร์ไพรส์ เพราะถ้าเซอร์ไพรส์แล้วคนด่าเขาอาจจะไม่เซอร์ไพรส์ก็ได้ จึงปล่อยไปตามปกติ ต่อข้อถามว่าแล้วเนื้อหาใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะมีเซอร์ไพรส์ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ได้มีการคิดเผื่อไว้หรือยังหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าไม่ผ่านการลงประชามติจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 แน่เพื่อบอกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร เอาไว้อีกสักพักคงจะรู้ แต่รู้แล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเปิดเผยหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเกิดขึ้นหลังจากทราบผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการแล้ว เพียงแต่ก่อนจะทราบผลจะมีแผนรองรับเอาไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่ว่าทราบผลการลงประชามติวันที่ 10 ส.ค. แล้วจะต้องไปใช้เวลายกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกันนาน เพราะเผลอๆ จะเข้า สนช.วันที่ 11 ส.ค.เลย ตนเชื่อว่าที่สุดแล้วกระบวนการที่จะทำต่ออย่างไรกับร่างขึ้นมาโดยอยู่บนพื้นฐานใหม่อย่างไร คงมีการเตรียมกันไว้ตั้งแต่อยู่ในช่วงที่คนไปลงประชามติกัน เพื่อให้เดินหน้าได้รวดเร็ว

สำหรับขอบเขตการรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ต้องไปดูว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ สนช.กำลังพิจารณากันอยู่ว่าเขียนเอาไว้อย่างไร ส่วนที่ใครหรือพรรคใดจะบอกไม่เห็นด้วยขณะนี้ทำได้ การบอกจุดยืนของตัวเองและสมาชิกพรรคไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ถ้อยคำนั้นจะต้องไม่โกหก บิดเบือน ไม่เป็นการให้ สัญญา ล่อลวง จูงใจ ให้สินบน จ้าง เพื่อให้ลงประชามติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับคำถามพ่วงในการทำประชามติเป็นเรื่องของ สนช.ที่จะต้องตั้งคำถาม ซึ่งคิดเองหรือเอามาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือเอามาผสมรวมกันเพียง 1 ข้อ โดยไม่ต้องส่งมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนแนวคำถามนั้นตั้งได้หมดทุกอย่าง แต่ถ้าตั้งแล้วไปกระทบต่อหลักการไม่ว่าจะเป็นบทถาวรหรือบทเฉพาะกาล ต้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปแก้ไขให้ตรงกับคำตอบที่ได้จากประชามตินั้นภายใน 30 วัน แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่าแก้ไขตรงแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

เมื่อถามย้ำว่า สนช.สามารถตั้งคำถามพ่วงที่แตกต่างจากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เช่น อยากให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รองนายกฯ กล่าวว่า ทำได้หมด เขาถึงได้เขียนว่าถ้าต่างกันก็ต้องไปแก้ให้เข้ากับผลประชามติ เพราะประชามติใหญ่กว่าอย่างอื่น เรื่องบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ กรธ.เป็นคนคิด แม่น้ำ 4 สายท้วงไปเขายังไม่ยอมเลย แต่ถ้าคนเป็นล้านเขาคิดให้เป็นอย่างอื่นก็ต้องปรับแก้


กำลังโหลดความคิดเห็น