รองนายกฯ คาดวิจารณ์ รธน.ไม่ถือเป็นความผิด รอ พ.ร.บ.ประชามติคลอดก่อน เล็งเชิญ กกต.หารือแบบใด มี-ไม่มีโทษ ชี้แถลงการณ์ไม่รับร่างไม่ผิด แต่พูดว่า “คว่ำ” เสี่ยงชักชวนส่อผิด มอง กรธ.หั่นอายุ สปท.เหลือ 4 เดือนไม่น่าขัดแย้ง ไม่ได้จะยุบ แย้มรอ กม.อาจตั้งองค์กรใหม่ใช้คนเดิม โต้ไม่เกี่ยวกับไร้ผลงาน แบ่ง 3 ส่วนเดินสายแจง รธน. มี กกต. กรธ. และการรณรงค์ให้ใช้สิทธิโดยใครก็ได้
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุว่าหากมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญอาจจะมีความผิดว่า ตอนนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการอยู่ ยังไม่ได้ออกมาและคิดว่าคงไม่อยู่ขั้นของความผิด แต่ในส่วนที่มีกฎหมายอยู่แล้วต้องระมัดระวัง ไม่อย่างนั้นอาจถูกเชิญปรับทัศนคติและตนก็ไม่รู้เรื่องด้วย แต่หาก กกต.ออกมาเตือนก็ต้องระมัดระวัง ส่วนตนเองก็จะเชิญ กกต.มาหารือในสัปดาห์หน้าในบางเรื่องของคำแนะนำที่สิ่งใดสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ได้ และเรื่องแบบใดที่อาจจะปฏิบัติได้โดยไม่มีโทษ และเรื่องแบบใดปฏิบัติแล้วจะมีโทษ
เมื่อถามว่า ที่พรรคการเมืองออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีความผิดหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ผิดอะไร แต่ถ้าไปพูดให้ “คว่ำ” ถือว่าเสี่ยง และตนไม่กล้าที่จะออกความเห็นได้ว่าผิดหรือไม่ผิด ถ้าบอกว่าตนเองหรือพรรคไม่รับ ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าไปชักชวนคนอื่นให้คว่ำก็อาจจะผิด เชื่อว่าถ้าทำเป็นจะไม่ล้ำเส้น นอกจากว่าตั้งใจจะล้ำเส้นให้มีเรื่อง ส่วนข้อสังเกตที่พรรคการเมืองออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะกฎหมายประชามติที่ระบุโทษยังไม่ออกมานั้น อย่าไปมองขนาดนั้น อย่าพูดอะไรให้เกิดความแตกแยก เพราะคนที่ทำเขารู้ว่าอะไรที่ทำได้ทำไม่ได้ แต่ระวังจะหนีเสือปะจระเข้ คือรอดจากกฎหมายนี้แล้วอาจะไปเจออย่างอื่นเข้าซึ่งตอนนี้มีอยู่เยอะ ไม่อย่างนั้นเขาจะเอาอะไรเรียกไปปรับทัศนคติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรอบเวลาทำประชามตินับจากตรงไหน นายวิษณุกล่าวว่า นับจากที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นนับไปอีก 15 วัน แล้วเริ่มนับ 1 ไปอีก 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนดตรงกับวันที่ 7 ส.ค. 2559
นายวิษณุกล่าวต่อเรื่องอายุสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หั่นออกจากเดิม 1 ปี เหลือ 4 เดือนจะเป็นความขัดแย้งหรือไม่ว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นความขัดแย้ง และมีการชี้แจงเหตุผลออกมาและ และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยุบ สปท. แต่หมายถึงให้ทำตามรัฐธรรมนูญนี้ไป 4 เดือน แล้วรอกฎหมายปฏิรูปออกมาตั้งองค์กรใหม่แล้วใช้คนเดิม หรือจะตั้งคนเพิ่มเข้าไปก็ได้ อยู่ที่จะไปเขียนกฎหมายกัน
เมื่อถามว่า การจำกัดอายุการทำงาน สปท.เพราะไม่ค่อยมีผลงานออกมาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นแบบนั้น เพราะการปฏิรูปจะมีระยะการทำงานอยู่แล้ว และความจริง สปท.เสนออะไรมาที่รัฐบาลมากมาย เช่น กฎหมายบางฉบับก็เพราะ สปท.เสนอมา รัฐบาลจึงนำเข้าสภา เช่น กฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ เข้าใจว่าเจตนาที่เขียนออกมาแบบนี้เพราะ มีการคาดการณ์ว่าจะมี สปท.บางส่วนลาออกแล้วไปสมัครในหน้าที่อื่น ซึ่งในบทเฉพาะกาลได้รู้ว่าต้องลาออกภายใน 90 วัน ซึ่งเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบแล้วจะทำงานยากจึงกำหนดอายุการทำงานจบลงแล้วตั้งใหม่
เมื่อถามว่า ความชัดเจนการเดินสายชี้แจงการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดย 1. กกต.จะเป็นผู้รับผิดชอบที่จะจัดการทำความเข้าใจต่างๆ ซึ่งจะใช้งบของ กกต.เอง ซึ่งอาจจะเชิญนักการเมือง หรือนักวิชาการมาร่วมเวทีด้วย 2. กรธ.ก็มีหน้าที่ชี้แจงต่อประชาชนถึงเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้งบในส่วน กรธ.เอง เช่นเดียวกัน และ 3. เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ ไม่ว่าส่วนราชการ หรือใครก็สามารถทำได้ เหมือนที่กองทัพให้ทหารออกไปรณรงค์ให้ประชาชนอออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และเรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นการล้ำเส้นอะไร เพราะจะล้ำเส้นหรือไม่ล้ำเส้นอยู่ที่คำพูด