xs
xsm
sm
md
lg

การแก้ไขความขัดแย้งแบบ คสช.

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


คืนวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมเปิดทีวีช่องไทย พีบีเอส เจอรายการเถียงกันให้รู้เรื่อง ซึ่งทางรายการเชิญนายเสรี สุวรรณภานนท์ กับนายวีระ สมความคิด มาถกเถียงกัน กรณีที่มีข่าวทางสื่อมวลชนว่า ทาง สปท.โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ มีส่วนร่วมด้วย ได้เสนอแนวทางการปรองดอง โดยชงกฎหมาย “รอการลงโทษ” สร้างปรองดอง ดังนี้

1. การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายรัฐ เช่น คดีความผิดเล็กน้อยหรือมีเจตนาไม่ร้ายแรง อาจมีนโยบายของรัฐไม่ดำเนินคดีต่อ เช่น การใช้มาตรา 44 การถอนฟ้อง

2. การแก้ปัญหาโดยตัวกฎหมาย จะใช้วิธีการออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.รอการกำหนดโทษ เพื่อความปรองดอง เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องมีการตัดสินคดีหรือฟังคำพิพากษา จะใช้กับคดีที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีแกนนำบุกยึดสถานที่ราชการ การปิดสนามบินหรือสี่แยกต่างๆ ที่เป็นอุดมการณ์ต่อสู้ทางการเมือง แต่ทำเลยเถิดทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมตามมา แต่จะไม่รวมถึงคดีทุจริต มาตรา 112 และการวางเพลิงเผาทรัพย์

โดยเงื่อนไขการเข้าสู่กฎหมายรอการกำหนดโทษนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีต้องยอมรับสารภาพว่าตัวเองกระทำผิดในชั้นศาลก่อน หลังจากได้รับรอการกำหนดโทษแล้ว จะมีมาตรการอื่นๆ มาควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก อาทิ การห้ามชุมนุมทางการเมือง การห้ามปลุกปั่นก่อความวุ่นวาย รวมถึงอาจตัดสิทธิการเมืองตลอดไป ข้อห้ามเหล่านี้จะกำหนดไปตลอดชีวิต ไม่มีอายุความ หมายความว่า จะถูกคาดโทษติดตัวไปตลอดชีวิต หากใครฝ่าฝืนข้อห้ามรอการกำหนดโทษจะถูกเรียกตัวมาฟังคำพิพากษาในคดีเดิม เพื่อลงโทษทันที มาตรการรอการกำหนดโทษจึงแตกต่างจากการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมไม่มีข้อห้ามต่างๆ มาควบคุมหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว แต่วิธีรอการกำหนดโทษจะมีเงื่อนไขและข้อห้ามต่างๆ มาควบคุมมิให้กลับไปกระทำผิดอีก ซึ่งเมื่อสื่อมวลชนเสนอข่าวนี้ บรรดาแกนนำการเมืองภาคประชาชนทุกสีเสื้อตลอดจนนักการเมืองที่ต้องหาคดีเกี่ยวพันกับการชุมนุมประท้วง ต่างดาหน้าออกมาคัดค้านไม่ยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน

ฟังจากนายวีระ สมความคิด กล่าวทางรายการทีวีนี้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า โดยส่วนตัวเขารับไม่ได้กับมาตรการนี้ โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า เขาออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ชอบแล้วถูกทางการตั้งข้อหา เป็นคดีฟ้องร้องต่อศาล เขาเชื่อว่าตนเองไม่เคยทำผิดคิดร้ายอะไรต่อบ้านเมือง จึงพร้อมที่จะพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล เมื่อศาลตัดสินพิพากษาอย่างไร ก็ยินดีจะเคารพต่อดุลพินิจการตัดสินของศาล แต่ไม่ใช่ยังไม่ได้พิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ยุติ แล้วจะให้เขาสารภาพว่าทำผิดจริงตามคำฟ้อง เพื่อเข้าสู่เงื่อนไขรอการลงโทษ ที่มีข้อห้ามไม่ให้ชุมนุมทางการเมืองไปตลอดชีวิต

นายวีระ กล่าวด้วยว่า มาตรการนี้น่าจะเอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ในการปราบปรามการชุมนุมของประชาชนมากกว่า สอดคล้องกับการที่ ปชช.ทำท่าจะถอนฟ้องคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนมวลชนฝ่ายต่างๆ ต้องไปยื่นหนัง

ผมฟังการชี้แจงของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่อ้างแต่เพียงจำเป็นต้องเร่งทำเพราะ สปท.ถูกกำหนดให้ทำเรื่องปรองดอง และ สปท.มีเวลาจำกัด และโดยหลักการส่วนหนึ่งก็ต้องการทำเพื่อประชาชนคนเล็กคนน้อยที่มาชุมนุมทางการเมืองแล้วลำบากเดือดร้อนกับการต่อสู้คดีในศาล และมาตรการนี้ก็ไม่มีการบังคับ แต่ให้ผู้ต้องคดีตัดสินเลือกเองว่าจะเข้าสู่รอการลงโทษตามมาตรการนี้หรือไม่ ซึ่งฟังดูน้ำหนักเหตุผลจะน้อยไปหน่อย

ถ้าพูดจาประสานักกฎหมายก็ต้องบอกว่าฟังไม่ขึ้น

แต่ฟังจากนักวิชาการซึ่งทางรายการเชิญมาสองท่านคือ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ และ รศ.ตระกูล มีชัย ให้ความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ถ้าคิดจะแก้ไขความขัดแย้งสร้างความปรองดอง ก็น่าจะใช้โอกาสที่รัฐบาลและ คสช.ที่อำนาจพิเศษเด็ดขาดต้องออกมาเป็นเจ้าภาพ และดำเนินการมาตรการที่จะแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความปรองดองที่แท้จริงที่ทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจยอมรับกัน

โดยส่วนตัว ฟังแล้วผมก็ออกจะไม่เห็นด้วยกับมาตรการรอการลงโทษที่ สปท. กำลังดำเนินการอยู่ ถ้าอ้างว่าจะช่วยเหลือประชาชนคนเล็กคนน้อยที่มาร่วมชุมนุมแล้วต้องคดี ผมก็ได้ยินข้อเรียกร้องทำนองนี้จากแกนนำทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดงมานาน แล้วว่าอยากให้รัฐนิรโทษกรรมคนเหล่านั้น โดยยกเว้นแกนนำทุกฝ่ายที่พร้อมจะสู้คดี ทำไมไม่ใช้อำนาจดำเนินการอย่างนั้นเล่า

ผมเชื่อว่ารัฐบาลและ คสช.มีความปรารถนาดีที่จะแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง เพียงแต่วิธีการและแนวทางดูเหมือนจะไม่ก่อให้เกิดมรรคผลจริงจังแต่อย่างใดเลย ความขัดแย้งแบ่งข้างในสังคมไทยยังคงอยู่ เพียงถูกสะกดให้นิ่งสงบด้วยอำนาจการรัฐประหารเหมือนก้อนหินทับหญ้าเท่านั้นเอง

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ตระกูล มีชัย ว่า ถ้ารัฐบาลนี้มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองให้สังคมไทย รัฐบาล และ คสช.ต้องกล้าออกมาเป็นเจ้าภาพจัดการปัญหาอย่างเต็มตัว โดยใช้อำนาจพิเศษเด็ดขาดที่มีอยู่ จัดการปัญหาแบบตรงไปตรงมาให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งผมเชื่อว่า รัฐบาลและ คสช.มีข้อมูลในมือมากพอที่จะใช้ในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้

เพราะถ้ามัวซื้อเวลาโดยรอแค่รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเหมือนการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ก็อย่าหวังเลยว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังได้ เพราะฝ่ายการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจากการเลือกตั้ง คือคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน ไม่เหมือนสถานะของรัฐบาลนี้และ คสช.ที่ถือได้ว่า ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงในปัญหาความขัดแย้งแบ่งสีแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมไทย

ว่าแล้วผมก็ขอบ่นเป็นบทกลอนปิดท้ายบทความนี้ ตามแบบพิธีของผมเอง

          “ไม่ตรงไปตรงมา”
ต้องฝึกมี อารมณ์ขัน วันละนิด
เชื่อข้าเถอะ ไอ้ทิด จิตแจ่มใส
ปัญหา บ้านเมืองนี้ ไม่มีอะไร
แค่มัน “ไม่ตรงไปตรงมา”
อำนาจรัฐ ผลัดกันเล่น เป็นเครื่องเล่น
รัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องเซ่น ผลัดเปลี่ยนหน้า
ต่างคน ต่างสี ต่างลีลา
ต่างมี ปวงประชา เป็นตัวประกัน
ก็อยู่ อยู่กันไป เถอะไอ้ทิด
อยู่อย่างจิต เริงร่า อารมณ์ขัน
อยู่อย่างธรรม กำกับ รับรู้ทัน
คันก็เกา ที่คัน เท่านั้นเอง
อารมณ์ขัน วันละนิด จิตแจ่มใส
อยู่อย่าง เท่าทันไป ไม่รีบเร่ง
เมื่อสังคม สังคัง ยังเส็งเครง
ต่างก็ร้อง บรรเลงกัน คนละคีย์
เปลี่ยนหน้า มากมาย มาอาสา
แต่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา ไม่เปลี่ยนวิถี
“ไม่ตรงไปตรงมา” กันสักที
หาคนดี ศรีอยุธยา...หายากเย็น!
ไอ้ทิดเอ๋ย.....ไอ้ทิดเอย...555

             ว.แหวนลงยา
กำลังโหลดความคิดเห็น