xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ขออย่าแปรคดี 7 ตุลาเป็นตัวแปรสถานการณ์ แนะปล่อยตามขั้นตอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. (แฟ้มภาพ)
“สปท.คำนูณ” ขออย่าแปรคดี 7 ตุลาฯ เป็นตัวแปรสถานการณ์ รับภูมิใจดันคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนถึงที่สุด แม้ไม่สำเร็จแต่คงเป็นบรรทัดฐานคดีอื่นๆ จนถอดถอนสำเร็จยุค สนช.คดี “ปู” รับน่าเสียดายไม่มีการพัฒนาต่อ วุฒิสภาไร้บทบัญญัติถอดอน คดีอาญาสลาย พธม.ส่อมีปัญหา แนะทางออกยึดหลักที่นายกฯ ย้ำให้ทุกกรณีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปล่อยตามขั้นตอน

วันนี้ (3 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Kamnoon Sidhisamarn” ระบุถึงคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มีหัวข้อว่า “อย่าแปรคดี 7 ตุลาให้เป็นตัวแปรสถานการณ์เลย!” โดยเผยว่าภูมิใจต่อผลงานการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 เพราะตนเป็นหนี้ผู้เสียสละในเหตุการณ์วันนั้นที่ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 วันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นกลุ่ม 40 ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อ ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีและผู้รับผิดชอบตำแหน่งอื่นในขณะนั้นต่อ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 270 โดยสำนวนสอบสวนชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.เดินทางมาถึงวุฒิสภา ตามมาตรา 273 ประมาณเดือนตุลาคม 2552 ในขณะที่ผู้ถูกร้องล้วนพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว ประธานวุฒิสภานำบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 แต่เป็นวาระแจ้งเพื่อทราบ โดยประธานวุฒิสภาแจ้งเพื่อทราบว่าดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไปไม่ได้ เพราะผู้ถูกยื่นถอดถอนพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งไม่มีใครทันได้อภิปรายทักท้วง

จนถึงการประชุมนัดต่อมาในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 ตนจึงได้หยิบยกวาระเรื่องนี้ขึ้นมาหารือทักท้วงอย่างจริงจังว่าวุฒิสภาน่าจะยังต้องดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 และตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ด้วยเหตุผลว่าแม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็จริง แต่หากถูกวุฒิสภาลงมติถอดถอน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 274 ผู้ถูกถอดถอนจะต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งราชการเป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย เพราะถ้าแม้นยึดหลักว่าหากพ้นตำแหน่งแล้ววุฒิสภาไม่ต้องดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไปก็จะเป็นผลอันประหลาดให้ในอนาคตเมื่อผู้ใดถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งใดก็ใช้วิธีลาออกจากตำแหน่งนั้นเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งทางราชการ 5 ปี

ที่จริงในขณะนั้นตนพลาดไปในประเด็นสำคัญ คือยังไม่เห็นนัยสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 102 (14) ที่ห้ามผู้ถูกวุฒิสภาลงมติถอดถอนตามมาตรา 274 สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยข้อความแล้วไม่อาจแปลเป็นอื่นนอกจากห้ามตลอดชีวิต ถ้าค้นพบเสียตั้งแต่วันนั้นการอภิปรายคงมีน้ำหนักมากขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปรายของตนในวันนั้น 2 รอบ และของสมาชิกวุฒิสภาท่านอื่นด้วย ประธานวุฒิสภาจึงมอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุติธรรมฯ และคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย วุฒิสภา ไปศึกษาข้อกฎหมายและเสนอความเห็นกลับมา คณะกรรมาธิการ และคณะกรรมการ ทั้ง 2 คณะ เสนอความเห็นให้ดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไป

โดยหลังการอภิปรายยาวนาน วุฒิสภามีความเห็นต่างกันเป็น 2 ฝ่าย จึงต้องตัดสินด้วยการลงมติเป็นหนึ่งใน “มติประวัติศาสตร์” ของวุฒิสภา ชนะแพ้กันเฉียดฉิวมาก! ฝ่ายที่เห็นควรให้วุฒิสภาดำเนินกระบวนการถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ต่อไปชนะไปด้วยคะแนนเสียงเพียง 4 คะแนนคือ 41 ต่อ 37 งดออกเสียง 19 มติวุฒิสภา 25 มกราคม 2553 ที่ให้วุฒิสภาดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไปได้แม้ผู้ถูกยื่นถอดถอนจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่ว่ากรณีใด ยกเว้นตาย ได้กลายเป็นบรรทัดฐานในคดีถอดถอนคดีต่อ ๆ มา ในขณะที่คดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ก็เดินหน้าต่อไปตามกระบวนการ แม้ในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการลงมติถอดถอนในวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 จะไม่สำเร็จ ถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะได้คะแนนเสียงถอดถอนเพียง 49 เสียงไม่ถึง 3 ใน 5 ก็ตามแต่ก็มีผลสำคัญ คือเป็นบรรทัดฐานในคดีต่อไป

และแม้คดีถอดถอนจะจบลง แต่ในส่วนคดีอาญาของกรณีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ยังเดินหน้าต่อไป แม้จะสะดุดในชั้นอัยการ แต่ถึงที่สุด ป.ป.ช.ก็ฟ้องเองได้ แม้วุฒิสภาจะยังถอดถอนใครไม่ได้อีก 3 คดีต่อมา แต่ก็ได้สร้างบรรทัดฐานสำคัญขึ้นมา คือ สามารถดำเนินกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองได้จบสิ้น ในขณะที่ก่อนหน้านั้นตั้งแต่มีบทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 มาจนรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่เคยได้เริ่มกระบวนการถอดถอนในชั้นวุฒิสภาหลังได้สำนวนชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช.ได้มาก่อนเลย จนกระทั่งมาถึงยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภา จึงสามารถลงมติถอดถอนได้เป็นผลสำเร็จ คือถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งได้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 นี่เอง

นายคำนูณเผยอีกว่า รู้สึกว่าน่าเสียดายที่บรรทัดฐานที่ได้สร้างขึ้นไม่ง่ายนักโดยมติวุฒิสภาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ไม่มีโอกาสพัฒนาต่อไปเสียแล้ว หนึ่งคือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีบทบัญญัติถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยวุฒิสภาอีกแล้ว อีกหนึ่งที่สำคัญกว่าคือคดีอาญาคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ที่เป็นเส้นทางคู่ขนานกับการถอดถอนโดยวุฒิสภา แม้จะเดินไปถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดย ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องเองแล้วก็ตาม แต่ก็ทำท่าว่าจะมีปัญหาอย่างไม่น่าจะมี

ทางออกที่เหมาะสมที่สุดก็ขอให้ยึดหลักการของท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่เคยพูดไว้หลายครั้งในรอบปีสองปีนี้เป็นดีที่สุด คือ ให้ทุกกรณีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้หมด คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองดีๆ อยู่แล้ว ควรปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนตามกระบวนการเป็นดีที่สุดอย่าไปสร้าง “ตัวแปรสถานการณ์” ขึ้นมาโดยไม่จำเป็นเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น