ที่สุดเหตุผล-ความจำเป็นที่ส่งให้ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ผงาดขึ้นไปนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ถูกเปิดโปงออกมาเร็วกว่าที่คาด จากเดิมที่มองว่าเป็น “เกมยาว” ที่ “ขั้วอำนาจปัจจุบัน” ต้องการถือไพ่เหนือกว่า “ฝ่ายการเมือง” ไปยาวๆ 9 ปีเต็มตามวาระของ “บิ๊กกุ้ย”
กลับกลายเป็นว่ามี “ภารกิจพิเศษ” ในการเข้าไปปลดเปลื้องพันธนาการให้คนในครอบครัว “วงษ์สุวรรณ” เท่านั้นเอง
ตั้งแต่ขึ้นรับตำแหน่ง “ประธานกุ้ย” หมายมั่นปั้นมือกับการปรับการทำงานของ ป.ป.ช.เป็นหลัก วางเป้าหมายเคลียร์คดีให้ได้ 500 คดี เพื่อขจัดเสียงครหา ป.ป.ช.ทำงานอืดยืดยาดจนคนชั่วลอยนวล ซึ่งเป็น “ข้ออ้าง” ในการขอแก้ไขทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หรือ “พ.ร.บ.ป.ป.ช.” ตลอดจนระเบียบปฏิบัติงานของ ป.ป.ช.
โดยตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงานภายในสำนักงาน ป.ป.ช.ถูก “บิ๊กกุ้ย” ไล่จี้งานที่มอบหมายไปอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า เตรียมจะเสนอให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช. เพื่อแก้รายละเอียดปลีกย่อยบางประการในการเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช.ให้มากขึ้น แบ่งเบาภาระเจ้าพนักงานระดับชำนาญการของ ป.ป.ช.ที่มีจำนวนไม่เพียงพอกับคดีความที่มีอยู่ล้นมือ
ในขณะที่ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับเป้าหมายของ ป.ป.ช.ชุดใหม่ยังไม่คืบหน้า “บิ๊กกุ้ย” ก็ไม่ลืมที่จะขับเคลื่อน “ภารกิจพิเศษ” ไปด้วย
ภารกิจที่ว่า ถูกเปิดโปงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานระบุว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายนก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ได้มีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ โดยมีกรรมการเข้าร่วมการประชุม 7 ราย ที่ขาดไม่ได้คือ “วัชรพล” ที่นั่งเป็นประธานในที่ประชุม
ในวันนั้นมีการพิจารณาวาระเพื่อถอนฟ้อง “คดีดัง” คดีหนึ่ง แล้วที่ประชุมก็มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบในหลักการให้ถอนฟ้องได้ โดยหนึ่งเสียงที่ไม่เห็นด้วยนั้นคือ สุภา ปิยะจิตติ หนึ่งใน ป.ป.ช.ชุดใหม่ สำหรับผู้ที่ขาดประชุม คือ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และ ณรงค์ รัฐอมฤต
ส่งผลให้มีการไล่เช็คข่าวกันอย่างวุ่นวายว่าคดีที่ว่าคือคดีอะไร ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.แต่ละรายก็เกิดอาการ “อัลไซเมอร์” จำเนื้อหาการประชุมไม่ได้ ทุกเสียงต่างโบ้ยไปให้ “บิ๊กกุ้ย” ในฐานะประธานเป็นผู้ให้ข้อมูล
ก่อนที่จะมีข้อมูลแบบคอนเฟิร์มไม่มั่วนิ่มว่า “คดีดัง” ที่ ป.ป.ช.มีมติรับหลักการให้ถอนฟ้องได้ก็คือ คดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ทั้งหมดเป็นตำแหน่งเมื่อปี 2551 เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม.2/2558 และมีการไต่สวนพยานนัดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559
หรือที่รู้จักกันว่า “คดีสลายพันธมิตรฯ 7 ตุลา”
พลันที่เป็นข่าวออกไปว่า ป.ป.ช.มีความพยายามจะถอนฟ้องคดีนี้ “ประธานกุ้ย” ก็ออกมายอมรับหน้าชื่นว่า เป็นการพิจารณาตามกระบวนการ เนื่องจาก 3 ใน 4 ของจำเลยได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเข้ามา ซึ่งในทางกฎหมายเปิดช่องให้ ป.ป.ช.ในฐานะผู้ส่งฟ้องพิจารณาถอนฟ้องได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาออกมา
แต่เมื่อพลิกตำรากฎหมาย ทั้ง พ.ร.ป.ป.ป.ช. และระเบียบ ป.ป.ช. ก็ไม่พบว่ามีเนื้อหาส่วนใดกล่าวถึงอำนาจในการถอนฟ้องของ ป.ป.ช.ไว้แต่อย่างใด เมื่อสอบถามไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ก็พบว่า เป็นการนำหลักการถอนฟ้องคดีตามมาตรา 35 ของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งระบุว่า โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มาใช้โดยอนุโลม
เรื่องนี้ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญแก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช.เพิ่มเติมเมื่อปี2554 ของสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ตัวเองเป็นผู้ยกร่างให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้เมื่อปี 2554 ระบุชัดในมาตรา86 (2) ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ไม่ให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการถอนฟ้อง หรือทิ้งฟ้องคดีได้ เพื่อป้องกันการฮั้วทำคดี ทิ้งคดี หรือการฟอกคดี
“หาก ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีนี้ จะถือว่าทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา123 ซึ่งมีโทษสูงเป็น 2 เท่าของกฎหมายอาญาปกติ และอาจถูกถอดถอนพ้นจากตำแหน่งด้วย” อดีต ส.ส.ชาญชัย ระบุไว้
ส่วนกรณี 3 จำเลยทำหนังสือขอความเป็นธรรมเข้ามานั้น ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นรายของ “สมชาย - พัชรวาท - สุชาติ” ขาดเพียงในส่วนของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต แต่ก็ไม่ถือว่ามีนัยสำคัญแต่อย่างใด เพราะหากมีการถอนฟ้องจริง “ลุงจิ๋ว” ก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย
ทั้งนี้ในหนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าว ระบุ 2 ประเด็นให้ ป.ป.ช.พิจารณาถอนฟ้อง หนึ่งคือเหตุผลในการไม่ฟ้องคดีของทางสำนักงานอัยการ ก่อนที่ ป.ป.ช.จะพิจารณายื่นฟ้องเอง และประการที่ 2 คือ การขอให้เปรียบเทียบระหว่าง “คดีสลายพันธมิตรฯ 7 ตุลา” กับเหตุการณ์สั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่ ป.ป.ช.มีมติยำคำร้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
โดยการเปรียบเทียบคดีสลายชุมนุมปี 51 กับปี 53 นั้น ทั้ง 3 จำเลยระบุว่าเป็น “หลักฐานใหม่”
น่าสนใจว่า “คดีสลายพันธมิตรฯ 7 ตุลา” นั้น ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องทั้ง 4 จำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม. 2/2558 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจำเลยไม่ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.แต่อย่างใด และเพิ่งยื่นก่อนวันที่ศาลนักเบิกพยานนัดแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมาไม่นาน
ดูเหมือน “บิ๊กกุ้ย” จะไม่ติดใจสงสัยในเรื่อง “ห้วงเวลา” ในการยื่นขอความเป็นธรรม และให้เจ้าหน้าที่เสนอเรื่องเป็น “วาระจร” เข้าสู่การประชุมเมื่อวันที่ 12 เมษายนทันที ก่อนจะมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงบอกว่า ป.ป.ช.สามารถถอนฟ้องได้ตาม ป.วิ อาญา และสั่งการให้เจ้าหน้าที่เคยร่วมดูแลสำนวน “คดีสลายพันธมิตรฯ 7 ตุลา” พิจารณาเหตุผลและความเหมาะสมในการถอนฟ้อง เพื่อนำเสนอที่ประชุม ป.ป.ช.อีกครั้ง โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา
แต่มีรายงานว่า “บิ๊กกุ้ย” สั่งการหลังไมค์ว่า หลังสงกรานต์ต้องเสร็จ
พอเปิดทำการวันแรก 18 เมษายน เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ทำรายงานสรุปวางบนโต๊ะประธาน ป.ป.ช.ได้ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีหมายเหตุตัวโตๆว่า “ไม่สมควรถอนฟ้อง” โดยให้เหตุผลว่า คำชี้แจงที่จำเลยทั้ง 3 ราย ยื่นเข้ามาแล้วอ้างว่าเป็น “หลักฐานใหม่” สามารถนำไปยื่นต่อสู้ในชั้นศาลฎีกาฯได้ อีกทั้งให้ “ข้อสังเกต” ว่าหาก ป.ป.ช.ใช้ดุลพินิจถอนฟ้องคดีดังกล่าว อาจเข้าข่ายฐานกระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ และถูกฟ้องร้องเสียเอง
แทนที่ “ประธานกุ้ย” จะลดละความพยายาม กลับแทงเรื่องกลับไปให้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทบทวน โดยให้ยึดการเปรียบเทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 และปี 2553 ที่ถูกนำมาอ้างว่าเป็น “หลักฐานใหม่” เป็นหลัก มากกว่าเรื่องอำนาจของ ป.ป.ช.
แต่เมื่อข่าว “ภารกิจพิเศษ” นี้หลุดรั่วออกมา เรื่องต่างๆก็ต้องชะงักลง “บิ๊กกุ้ย” ก็ต้องซอยเท้ารอจังหวะต่อไป
แม้ความพยายามของ “ประธานกุ้ย” ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ถือเป็น “คำสารภาพ” ว่าคิดจริง-ทำจริง ถามว่าเมื่อโดน “จับได้” แบบนี้จะลดละความพยายามหรือไม่ ขอตอบแทนได้เลยว่า “ไม่มีทาง”
ยิ่งถอดรหัสคำพูดของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะ “มือกฎหมาย คสช.” ที่ฟันธงแบบไผ่ลู่ลมว่า “สามารถถอนฟ้องได้” เพราะกฎหมายของ ป.ป.ช.ไม่ได้เขียนว่า ถอนได้ และไม่ได้เขียนว่า ถอนไม่ได้ แต่เมื่อ ป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้องคดีนี้เอง ย่อมสามารถ ถอนได้ ทั้งยังมีการนำไปเทียบเคียงกับคดีที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย ซึ่ง อัยการสูงสุด (อสส.) เคยถอนฟ้องมาแล้ว
เป็นความเห็นของ “นักกฎหมายประเทศไทย” ที่อาจหลงลืมไปว่า อสส.มีอำนาจถอนฟ้องได้ตาม ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่ เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ พ.ศ.2554 ในขณะที่ในระเบียบของ ป.ป.ช.ไม่มีกล่าวถึง และต้องไปอ้างอำนาจตาม ป.วิ อาญา อย่างหน้าตาเฉย
กรณีนี้จึงไม่น่าจะถูกหลักการของกฎหมาย แต่เป็น “หลักกู” มากกว่า
อย่างไรก็ดีแม้ “บิ๊กกุ้ย” จะถูลู่ถูกังจนประสบความสำเร็จ และทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ออกมติเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯขอถอนฟ้อง “คดีสลายพันธมิตรฯ 7 ตุลา” ได้ก็ตาม แต่ทั้งหลายทั้งปวงยังต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลฎีกาฯว่าจะให้ถอนฟ้องตามที่ ป.ป.ช.เสนอไปหรือไม่
ถือเป็นการตอกย้ำมาตรฐานจริยธรรม-ธรรมาภิบาลในยุค คสช.ผ่าน ประธาน ป.ป.ช.ที่ชื่อ “วัชรพล” ผู้ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับครอบครัว “วงษ์สุวรรณ” ติดตามทำงานให้กับทั้งผู้พี่ “บิ๊กป้อม” พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และผู้น้องอย่าง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มาก่อน
หากไม่ใช่ประธาน ป.ป.ช.คนนี้เรื่องแบบนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น หรือจะอธิบายตามวลีกำปั้นทุบดินแบบ “ใครๆก็ทำกัน” ก็ทำให้นึกย้อนไปถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ “เหมาเข่ง-สุดซอย” ที่ทำให้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้มคว่ำแบบไม่เป็นท่าไปแล้ว เพราะดันทะลึ่งนำอำนาจที่ได้รับจากประชาชนครึ่งค่อนประเทศมาช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย
ในทำนองเดียวกัน การนำ “องค์กรเครดิตสูง” อย่าง ป.ป.ช.มาทำเรื่องนิรโทษกรรมให้กับ “คนในครอบครัว” แบบนี้มันน่าเกลียดกว่าสมัย พ.ร.บ.เหมาเข่ง-สุดซอย เสียอีก
มีอำนาจแล้วใช้ในทางไม่เข้าท่า จุดจบจะเป็นยังไงนึกให้ดี.