xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยฝัน “สมชาย” หลุดคดี 7 ตุลา ชูนำทัพเลือกตั้งครั้งหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เพื่อไทยตีปีกลุ้น “สมชาย” หลุดคดีสลายชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 หลัง ป.ป.ช.เตรียมถอนฟ้อง เพิ่มตัวเลือกผู้นำเลือกตั้งครั้งหน้า รอทักษิณเคาะเอาคนในหรือนอกตระกูลชินวัตรชูธงเพื่อไทย รับวัฒนา เมืองสุข ทุ่มเทให้พรรค ผู้ใหญ่เห็น แต่คงไม่ถึงขนาดเป็นผู้นำพรรค ขณะที่เสียงค้าน ป.ป.ช.เริ่มมากขึ้น เตือนช่วยคนหนึ่ง-คนที่เหลือก็รอด หวั่นความวุ่นวายตามมา แถมภาพลักษณ์ ป.ป.ช. ศรัทธาหาย

แรงกระเพื่อมในสังคมเริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ออกมาบอกกล่าวต่อสังคมว่า ทาง ป.ป.ช.อาจมีการทำเรื่องถอนฟ้อง คดีสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 หลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำเลยในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ตุลาคม 2551 ร้องขอความเป็นธรรมพร้อมแสดงหลักฐานใหม่ต่อ ป.ป.ช. ให้พิจารณาถอนฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนการพิจารณาสั่งฟ้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่แล้ว

แต่ดูเหมือนประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 30 ธันวาคม 2558 จะมองข้ามไปถึงเรื่องการขอถอนฟ้องในคดีดังกล่าวไว้ล่วงหน้า ทั้งๆ ที่หลักฐานใหม่ที่ได้รับมายังไม่ทราบผลว่ามีน้ำหนักเพียงพอต่อการขอถอนฟ้องหรือไม่ รวมไปถึงข้อกฎหมายที่ ป.ป.ช. มีอำนาจในการขอถอนฟ้องหรือไม่ อีกทั้งคดีดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาฯ ส่วนผลของการขอถอนฟ้องได้หรือไม่โยนให้เป็นการพิจารณาของศาล
ตำรวจยิงระเบิดแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551
หลายเสียงท้วงติงไม่เห็นด้วย

ที่น่าสนใจคือนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่กล่าวว่า คดีใดที่ ป.ป.ช.ได้ทำการฟ้องร้องต่อศาล และศาลมีคำสั่งรับและดำเนินการพิจารณาไปแล้ว ย่อมไม่สามารถหยิบยกข้ออ้างมาขอถอนฟ้องได้ เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดอำนาจดังกล่าวเอาไว้ ทั้งนี้ มาตรา 86 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานั้น

ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ถอนฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯ ระวังติดคุกกันตอนแก่ หนึ่งในใจความคือ ที่มาที่ไปของภารกิจนี้ชัดเจนในตัวมันว่าเป้าหมายปลายทางคืออะไร แต่ใครจะรับผิดชอบกับภารกิจสีเทาครั้งนี้ ถ้าในที่สุดไม่ใช่ กก.ป.ป.ช.เอง เพราะเป็นภารกิจที่อาจเข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะแม้แต่อนุฯ ใน ป.ป.ช.เองก็ทักท้วงว่าสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการทำผิดกฎหมายเสียเอง แต่ ป.ป.ช.ก็เหมือนจะไม่นำพา

เช่นเดียวกับนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า เป็นที่รู้กันดีว่า หาก ป.ป.ช.ยื่นถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ บุคคลที่ได้ประโยชน์โดยตรงก็คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวของผู้ที่มีอำนาจในขณะนี้ ถ้าเกิดขึ้นจริงรัฐบาล คสช.ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

รวมไปถึงความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่แสดงความเห็นว่า ถ้า ป.ป.ช.คิดว่าจะถอนฟ้องก็ต้องเตรียมรับมือความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นด้วย

แรงทัดทานจากหลายฝ่าย ดูเหมือนจะไม่สามารถเปลี่ยนความตั้งใจของประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ได้ และได้ปลุกให้เริ่มมีเสียงคัดค้านออกมาจากภาคประชาชน โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ออกแถลงการณ์ “ขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนมติการยื่นถอนฟ้องคดีเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551” เมื่อ 26 เมษายน 2559 นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการ ครป. ได้ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ได้ทบทวนมติการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตน ให้เป็นไปด้วยความอิสระ โปร่งใส และสุจริตยุติธรรม

ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ยังดึงดันที่จะทำตามมติที่ประชุมดังกล่าว เราก็พร้อมจะประสานงานกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้อำนาจหน้าที่ที่มิชอบ และสร้างมาตรฐานที่ถูกต้องเป็นธรรมต่อกรณีดังกล่าวถึงที่สุด
พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
กังขา ป.ป.ช.ยุคนี้

ทั้งนี้หากผลของการขอถอนคดีจาก ป.ป.ช.เป็นผล จนทำให้คดีดังกล่าวไม่มีบุคคลใดกระทำความผิดในคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 นอกจากจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แรงกดดันทั้งหมดจะกลับไปอยู่ที่ ป.ป.ช.และจะกระทบไปถึงความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล

“ก็รู้ๆ กันว่าถ้าคดีนี้จำเลยหลุดจากข้อกล่าวหาใครจะพึงพอใจ 3 คนที่ยื่นหลักฐานใหม่ให้กับ ป.ป.ช. ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น้องชายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล” หนึ่งในผู้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 2551 กล่าว

หากย้อนกลับไปก็จะพบว่ามีความพยายามในเรื่องนี้มาเป็นขั้นเป็นตอน คำสั่งหัวหน้า คสช.93/2557 ที่ว่าด้วยการยกโทษปลดออกจากราชการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ตามคําพิพากษาศาลปกครองกลาง มีความพยายามให้อัยการเข้ามาเป็นทนายแก้ต่างให้ฝ่ายจำเลย ทั้งๆ ที่คดีดังกล่าวอัยการสั่งไม่ฟ้อง จน ป.ป.ช.ในขณะนั้นต้องยื่นฟ้องและศาลก็ประทับรับฟ้อง โดยศาลฎีกาฯ ได้ยกคำร้องของอัยการไป

ครั้งนี้ ป.ป.ช.ยุคปัจจุบันเตรียมการขอถอนฟ้อง ใครที่ติดตามข้อมูลก็จะทราบว่าประธาน ป.ป.ช.ชุดนี้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งในเวลานั้นยืนอยู่ฝ่ายใด เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของใคร วันนี้เมื่อได้รับการแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่ ป.ป.ช.โดยอำนาจของ คสช. กลับเสนอที่จะขอถอนฟ้อง

ทั้งนี้ประวัติการทำงานของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ในช่วงที่รับราชการตำรวจได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้น

ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังการยึดอำนาจของ คสช. และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นเลขาฯ ส่วนตัวอยู่หน้าห้องของ พล.อ.ประวิตร

จนลงสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และได้รับเลือก จนเป็นประธาน ป.ป.ช.เมื่อ 30 ธันวาคม 2558

ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะยอมรับได้ แต่ครั้งนี้น่าจะปล่อยให้ผ่านไปได้ยาก ลำพังแค่การยื่นขอถอดถอนในคดีดังกล่าวนี้ ป.ป.ช.ก็กลายเป็นองค์กรที่คนหมดศรัทธาลงไปในพริบตา แตกต่างจากคณะกรรมการชุดก่อนที่เป็นที่พึ่งของประชาชนได้
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เดินทางมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551
ถ้าหลุดจริง-เพื่อไทยยิ้ม

หากมองข้ามไปถึงการถอนฟ้องและทำให้จำเลยหลุดคดีโดยไม่มีความผิด ย่อมสามารถกู้ศักดิ์ศรีให้ครอบครัวหนึ่งได้ จำเลยที่เหลืออีก 2 รายก็รอดอีกเช่นกัน และอาจรวมไปถึงพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ด้วย

1 ใน 2 คือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นก็จะปราศจากมลทิน ดังนั้นการทำกิจกรรมทางการเมืองหลังจากที่ คสช.พ้นอำนาจไปก็จะไม่ติดขัดในเรื่องคุณสมบัติในการลงสนามการเมือง

“ต้องลุ้นว่าท่านนายกฯ สมชาย จะหลุดจากคดีนี้หรือไม่ หากหลุดก็สามารถลงรับสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้” แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยกล่าว

เดิมทีหลังจากที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดีรับจำนำข้าว นายกฯ สมชายเจอคดี 7 ตุลา ทำให้ทางพรรคมีปัญหาในเรื่องของการหาบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำในครั้งต่อไป เพราะยิ่งลักษณ์โดนคดีรับจำนำข้าว แม้จะมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของทักษิณ ภรรยาสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่พ้นคดีความมาแล้ว แต่ภาพลักษณ์ของอดีตนายกฯ สมชายดูดีกว่าและคนในพรรคสนับสนุน

แม้ว่าตอนนี้ทางพรรคจะเตรียมการหาผู้นำไว้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คนในตระกูลชินวัตร แต่ถ้าผลที่ ป.ป.ช.ยื่นถอนฟ้องแล้วท่านสมชายหลุดได้ ก็จะเป็นการเพิ่มตัวเลือกผู้นำของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ทันที ส่วนการตัดสินใจเลือกคงเป็นหน้าที่ของท่านทักษิณเป็นผู้พิจารณา เพราะที่ผ่านมาจะเน้นไปที่คนของตระกูลชินวัตรเป็นหลัก เว้นในช่วงของท่านสมัคร สุนทรเวช ระยะหนึ่งเท่านั้น

ทุกวันนี้ท่านสมชายก็ยังทำงานให้พรรคและมีบทบาทสำคัญในพรรคเหมือนเคย หากหลุดจากคดีดังกล่าวได้จริง เลือกตั้งครั้งต่อไปท่านก็มีโอกาสจะมาเป็นผู้นำพรรคได้อีกครั้ง

ส่วนที่หลายคนมองว่าที่ผ่านมานั้นคุณวัฒนา เมืองสุข มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลหลายครั้ง จนถูกเชิญไปปรับทัศนคติหลายรอบนั้น โอกาสจะขึ้นมาในตำแหน่งสำคัญก็มีเช่นกัน แต่หากมองถึงระดับผู้นำพรรคอาจจะติดขัดในหลายด้าน อีกทั้งยังมีคดีเรื่องโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ยังต้องรอคำตัดสินของศาลก่อน แต่การทุ่มเททำงานให้พรรคที่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงอย่างนี้ ผู้ใหญ่ในพรรคคงเห็นถึงความสำคัญ

“ตอนนี้ทุกอย่างยังไม่นิ่ง ประเมินสถานการณ์ยากต้องดูกันเป็นรายวัน แต่ก็มีการหารือกันตลอดเวลา ทั้งหมดต้องรอศาลเป็นผู้พิจารณา”

ผู้มีอำนาจต้องเลือก

อดีตนักการเมืองรายหนึ่งกล่าวว่า ทุกอย่างมันไม่ง่าย เฉพาะแค่เรื่องที่ ป.ป.ช.เตรียมขอถอนฟ้องในคดี 7 ตุลาคม 2551 ก็ยังไม่ชัดว่าจะยื่นจริงหรือไม่ เพราะแค่นี้ยังเริ่มมีเสียงคัดค้านขึ้นเรื่อยๆ หากยื่นจริงก็อาจมีปัญหาตามมาอีกมาก และท้ายที่สุดหากไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบในคดีนี้ได้ เกรงว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะกลับมาวุ่นวายอีกครั้ง

ตอนนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะเลือกให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร หากคนหนึ่งหลุดคดีคนที่เหลือก็ต้องหลุดด้วยเช่นกัน กลายเป็นช่วยคนหนึ่ง เปิดทางให้อีกคนหนึ่งไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นคนของการเมืองที่เป็นเหตุให้มีการเข้ามายึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ตรงนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีคำตอบให้กับคนในสังคม

นอกจากนี้การขอถอนคดีดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงการทำงานของ ป.ป.ช. ว่าที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการชุดก่อนมีความผิดพลาดในการพิจารณาคดี ที่สั่งฟ้องไป แม้จะอ้างเรื่องหลักฐานใหม่ที่กรรมการชุดก่อนยังไม่เห็นก็ตาม แต่คอการเมืองก็ทราบดีว่ากรรมการของ ป.ป.ช.เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก และมีความพยายามที่จะแทรกเข้ามาในองค์กรนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคที่นักการเมืองบริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นความต้องการที่จะถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ของ ป.ป.ช.จะเป็นอีกปมหนึ่งที่ทุกฝ่ายต่างจับตามอง

กำลังโหลดความคิดเห็น