xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดี 7 ตุลาฯ ไม่ใช่แค่จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา แต่มีมิติที่ต้องพิจารณาไปถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีครึ่ง เมื่อเหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ที่เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการยิงระเบิดแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนที่กระทำตามลำดับขั้นตอน และปรากฏเป็นภาพอย่างชัดเจนว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาไปในทิศทางตรงกับประชาชน เป็นผลทำให้เกิดเหตุเสียชีวิตทันทีของประชาชนจำนวน 2 ราย พิการ แขนขาขาด สมองยุบ และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ถามว่าในเวลานั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาชุมนุมเรื่องอะไร? ก็ต้องย้อนกลับไปในแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เรื่อง “ชุมนุมใหญ่ต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” โดยเหตุผลของการชุมนุมมีเนื้อความบางตอนว่า:

“สำหรับอันตรายต่อสถาบันชาตินั้นได้ปรากฏในการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า กระทำไปเพื่อลบความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และช่วยเหลือนักการเมืองให้หลบหนีคดียุบพรรคการเมืองจากกรณีกรรมการบริหารพรรคได้กระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจตุลาการกำลังถูกทำลายด้วยฝ่ายนิติบัญญัติที่ไร้จริยธรรม สมคบกับฝ่ายบริหาร ตลอดจนดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อทำให้กระบวนการตรวจสอบนักการเมืองอ่อนแอลง องค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้การคัดสรรจากอิทธิพลทางการเมืองจนไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายการเมืองได้ และนำไปสู่ความล่มจมของชาติดังที่เคยได้เกิดขึ้นมาแล้วในระบอบทักษิณจากการใช้รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540”

ประเด็นใหญ่ในวันนั้นก็คือความพยายามทำลายหลักนิติรัฐเพื่อช่วยพรรคพวกของตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งก็คล้ายคลึงกับการชุมนุมของมวลมหาประชาชนในนาม กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ว่าด้วยเรื่องความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้พรรคพวกของตัวเองและพวกพ้อง

ไม่มีใครคาดคิดว่าเมื่อมาถึงรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เต็มมือโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะยอมนิ่งเฉย หลับตาข้างเดียวเพื่อให้ปล่อยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่มีประธานซึ่งมีความใกล้ชิดเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ดำเนินการถอนฟ้องคดี 7 ตุลาคม 2551 ให้กับ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

และบุคคลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ก็คือนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ น้องโบว์ ที่วัดศรีประวัติ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยในวันดังกล่าวนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมาร ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ

และถ้าจำกันได้คนที่มาร่วมงานดังกล่าวนอกจากจะมีนักการเมืองแล้ว ยังปรากฏในเวลานั้นที่ชื่อ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกเข้าร่วมงานในวันดังกล่าวด้วย

และในฐานะที่รัฐบาลชุดนี้มี 3 พี่น้องทหารเสือพระราชินีมาอยู่รวมกัน ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็น่าจะรำลึกและจดจำในเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงโปรดฯให้ครอบครัวของน้องโบว์เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และทรงชมน้องโบว์ว่า....

“ลูกสาวเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์”

ถึงเวลานี้รัฐบาลที่มีรัฐฏาธิปัตย์และอำนาจเต็มมือภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปล่อยให้การเสียชีวิตของ ”เด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์” จบลงด้วยการปล่อยให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ถอนฟ้องคดี 7 ตุลาคม 2551 เพื่อเอาใจพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในสมัยรัฐบาลที่มีอำนาจรัฐฏาธิปัตย์โดยทหารเสือพระราชินีอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างนั้นหรือ?

และระหว่างพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของพี่ใหญ่ทหารเสือพระราชินี กับ น้องโบว์ที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงตรัสชมว่าเป็น “เด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์” อะไรมันสำคัญกว่ากันในสายตาของทหารเสือพระราชินีอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา?

ความเป็นธรรมของประชาชนที่มีการสูญเสียของ “เด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์” มีความปรารถนาที่จะรักษาหลักนิติรัฐ และความเป็นธรรม ใครผิดก็ต้องได้รับโทษ ใครไม่ผิดก็ต้องได้รับความบริสุทธิ์ ตามกระบวนการพิสูจน์ในชั้นศาลยุติธรรม เพราะสิ่งที่น้องโบว์และครอบครัวรวมถึงประชาชนที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย์ที่รักชาติบ้านเมืองต้องออกมาชุมนุมจนเกิดการสูญเสียแม้กระทั่งชีวิตก็คือหลักการสำคัญนี้

ที่ต้องกล่าวถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามากเป็นพิเศษ เพราะอดไม่ได้ที่จะต้องไปเปรียบเทียบกับ “วิธีการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์” มาแล้วเป็นกรณีพิเศษด้วยคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 93/2557 เรื่อง “ยกโทษปลดออกจากราชการ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก่อนหน้านั้นไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 99/2554 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ภายใน 60 วัน เป็นผลทำให้คำพิพากษาสิ้นสุดลง

แต่นั่นก็ยังเป็นเรื่องการใช้อำนาจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในการให้พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจากราชการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งขัดแย้งกับมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในการประชุมครั้งที่ 17/2552 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 ไม่ใช่เรื่องของการรับประกันความบริสุทธิ์ของพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ว่ามีความผิดหรือไม่ในคดี 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551?

เพราะพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ นั้นได้เคยพยายามในการฟ้องร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนั้นระบุว่า

“ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์ว่า มติของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และส่งรายงานความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย หากจะมีผลทางกฎหมายก็คงมีผลแต่เฉพาะในความสัมพันธ์ภายในระหว่าง พล.ต.อ.พัชรวาท กับผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาลงโทษทางวินัย แต่ไม่มีผลทางกฎหมายกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่หรือก่อความเดือดร้อนเสียหายต่อ พล.ต.อ.พัชรวาท ดังนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท จึงไม่มีสิทธิฟ้องของให้ศาลปกครองเพิกถอนคำวินิจฉัยและชี้มูลความผิดผู้ฟ้อง คดีและมติ ป.ป.ช.ดังกล่าวได้

ส่วนประเด็นที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เนื่องจากการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่นที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีในการนำของผู้กระทำผิดทางอาญามาลงโทษ ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ดังนั้นการที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องจากทั้งสองประเด็นดังกล่าวข้างต้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย และเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณากรณีจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำขอเกี่ยวกับการชั่วคราวก่อนการพิพากษา มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น”

ถ้าเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชุดก่อนหน้านี้เชื่อว่าจะไม่มีทางที่จะมีความคิดที่จะหาหนทาง “ถอนฟ้อง”ในคดี 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ได้เลย

แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากไม่มีฝ่ายค้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2558 เรื่องการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. โดยให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(ไปแทนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีแล้ว) และ รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย(ไปแทนผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีแล้ว) ไปเป็นกรรมการคัดสรร ป.ป.ช.ชุดใหม่ให้ได้จำนวน 5 คน (ที่ว่างลง) จากทั้งหมด 9 คน

ซึ่งแน่นอนว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่ง คสช.ก็คัดสรรมาเองทั้งหมดก็ได้ลงมติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ให้ความเห็นชอบผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เป็นประธานและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

1.พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

2.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

3.นางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

4.นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

5.พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์ เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ดังนั้นเมื่อยึดโยงความสัมพันธ์เชิงอำนาจแล้ว ย่อมไม่สามารถแยกที่มาของเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดนี้ กับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ภายใต้ คสช.และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาชุดนี้ได้เลย จริงหรือไม่?

เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติ 6:1 (ลาประชุม 2 คน) ว่าตามข้อกฎหมาย ป.ป.ช.มีสิทธิในการยื่นคำร้องถอนฟ้องคดีได้ ซึ่งมีเพียงนางสุภา ปิยะจิตติ เท่านั้นที่ลงมติไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า กฎหมายของ ป.ป.ช.เป็นกฎหมายมหาชน เมื่อไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการถอนฟ้อง

ดังนั้น เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัดสินใจเช่นนี้แล้ว ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่มีความพยายามที่จะถอนฟ้องจริงในที่สุด

และถ้าถึงวันนั้นคงไม่ใช่คดีความอาญาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)จะต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเอาเองเท่านั้น แต่จะยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อองค์กรแห่งนี้ว่าจะยังคงเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนในการปราบปรามการทุจริตได้จริงหรือไม่?

แต่ในฐานะที่รัฐบาลที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งคณะกรรมการเสียงข้างมากของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชุดนี้ ก็จะต้องถูกตั้งคำถามว่าตกลงที่ยึดอำนาจมานั้นเพื่ออะไร ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หรือต้องการมาเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องกันแน่?

ซึ่งคำถามที่ตามต่อมาก็คือแล้วถ้ามีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์แล้วปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แล้วจะไปปฏิรูปประเทศนำความสงบเรียบร้อยมาคืนสู่บ้านเมืองได้อย่างไร? และจะสร้างความปรองดองได้อย่างไร? ก็ในเมื่อรัฐบาลที่ถูกพี่น้องประชาชนชุมนุมขับไล่ไปก่อนหน้านี้ก็มีสาเหตุมาจากความพยายามทำลายหลักนิติรัฐออกกฎหมายเพื่อล้างความผิดให้กับพรรคพวกของตัวเอง ใช่หรือไม่? แล้วรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะต่างจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จะต่างจากรัฐบาลนายสมชาย วงศวัสดิ์ หรือ จะต่างจากรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตรงไหน?
.
และถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปล่อยให้องค์กรอิสระที่มีส่วนมาจากอำนาจรัฐบาลและ คสช. ทั้งทางตรงและทางอ้อมไปล้างความผิดให้กับพรรคพวกพ้องของรัฐบาล อย่าว่าแต่จะขอให้มีสมาชิกวุฒิสภาของพวกตัวเองเป็นเวลาอีก 5 ปี เลย แม้แต่จะอยู่ต่อไปอีกวันเดียว ก็ต้องถูกตั้งคำถามว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร? และจะไปปฏิรูปอะไรได้ ใช่หรือไม่?

และประชาชนเขาจะเชื่อได้หรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะปราบโกงได้ ก็ในเมื่อองค์กรที่ทำหน้าที่ปราบโกงไปถอนฟ้องให้กับพรรคพวกของคนในรัฐบาลชุดนี้เสียเอง จริงหรือไม่?

ประการสุดท้าย “เด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์” สมควรได้รับการตอบแทนจากรัฐบาล 3 พี่น้องทหารเสือพระราชินีเช่นนี้หรือ?

"หยุดฟอกความผิดให้พวกพ้องเสียเถิด ก่อนที่เรื่องจะบานปลายไปไกลกว่านี้"!!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น