รองนายกฯ ระบุ ผู้ตรวจการแผ่นดิน บทบาทคือพระอินทร์ ชี้ ช่องอำนาจใหม่ราวเทพ เชื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติเลือกตั้งได้ แต่แม้ไม่ผ่านประชามติก็จะมีการเลือกตั้งได้ในปี 2560
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดโครงการเสวนาวิชาการผู้ตรวจการแผ่นดินสัญจรพบสื่อมวลชน โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายหัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินและองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ การเปลี่ยนผ่านภารกิจตามรัฐธรรมนูญใหม่” ตอนหนึ่งว่า บทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็คือ บทบาทพระอินทร์ ที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแลเหตุภัยและแก้ไข เดิมทีองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรที่ไม่มีใครกลัว ชี้เป็นชี้ตายไม่ได้แตกต่างจาก กกต. หรือ ป.ป.ช. แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่ ในแง่หนึ่งอาจเล็กกว่าเดิมแต่เพิ่มความกว้าง จนตนทายว่าจะเห็นการตีความว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจนี้หรือไม่ เพราะมีอะไรที่ไม่ชัดเจนอยู่
โดยตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้กำหนดบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินเอาไว้ 3 หลักใหญ่ ๆ คือ 1. หลักทั่วไปในรัฐธรรมนูญที่ใช้กับองค์กรอิสระทั้ง 5 ให้มีหน้าที่ประชุมร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ไว้ใช้กันเองรวมทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี เป็นอันว่าองค์กรอิสระทั้ง 5 บวกกับฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมเดียวกันทั้งหมด
“กำหนดให้องค์อิสระทั้ง 5 ต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน ต่อจากนี้องค์กรไหนตรวจสอบอะไรพบ หากไม่ใช่เรื่องขององค์กรตัวเองก็ส่งให้องค์กรที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจะเป็นเครื่องเอ็กซเรย์ที่ใหญ่กว่าองค์กรอื่นทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนั้น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเตรียมรับสถานการณ์นี้ไว้ อาจต้องขยับขยาย สร้างเครือข่ายสาขารองรับภารกิจที่จะมาอีกมาก”
2. ภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนสร้างภาระหรือไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน อำนาจนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้มอบแก่องค์กรอื่นใดยกเว้นผู้ตรวจฯ ภารกิจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีการปฏิบัติผิดกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดเรื่องหน้าที่ของรัฐ โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอไปยัง ครม. หากพบว่าหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง และการเสนอศาลรัฐธรรมนูญหากพบว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเสนอเรื่องไปยังศาลปกครอง และ 3. บทบาทอื่น ๆ ที่จะไปกำหนดให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
“ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ อำนาจตามนี้จะทำให้เราเห็นพระอินทร์องค์นี้ทำหน้าที่สำคัญ คือ เป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายแห่งชาติ เป็นพนักงานสอบสวนแห่งชาติ ตรวจสอบกระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน เหมือนเป็นผู้ตรวจราชการประเทศไทย มีหน้าที่เป็นโจทก์ของประเทศไทยแทนประชาชน และเป็นผู้กำหนดมาตรฐานความประพฤติเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของประเทศไทย" นายวิษณุกล่าวและว่า จากบทบาทที่ว่ามานี้อาจทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์ ถ้าไม่ปรับจะเป็นสามล้อถูกหวย อยากแนะนำว่า กว่าจะถึงเวลาที่คณะกรรมการ่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนกฎหมายลูก น่าจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ตัวเสียเองว่าอยากได้อะไร ซึ่งอาจจะเพิ่มในสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนก็ได้ คำถามใหญ่คือกรรมการองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในปัจจุบัน รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไปหรือไม่ หากรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าจะดำรงตำแหน่งต่อได้หรือไม่ แล้วแต่กฎหมายลูกกำหนด”
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า คำถามที่ตนก็อยากรู้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ 7 ส.ค. ถามตนหรือรัฐบาลก็เชื่อว่าผ่าน สมมติว่า ผ่าน กกต. บอกตนว่าประชามติปิดหีบเวลา 16.00 น. ในวันที่ 7 ส.ค. ประมาณ 21.00 น. คงรู้อย่างไม่เป็นทางการว่าผ่านหรือไม่ กว่าจะรู้เป็นทางการคงใช้เวลาประมาณ 4 วัน จึงจะได้ตัวเลขที่ชัดเจน หากประชามติผ่าน เราคงใช้เวลาเดือน ส.ค. ที่เหลือทั้งเดือนจนอาจล้ำไป ก.ย. ทำสิ่งพิธีกรรมคือเขียนตัวบทรัฐธรรมนูญในสมุดไทยเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ วันนี้ตนได้สั่งอาลักษณ์ให้เริ่มเขียนแล้ว ดังนั้นถ้าผ่านประชามติจะใช้เวลาเขียนไม่นานเพราะได้เริ่มแล้ว ส่วนเรื่องคำถามพ่วงหากแก้ก็เล็กน้อย 200 มาตราแรกคงไม่กระทบ กำหนดปฏิทินคร่าว ๆ ของตนคาดว่า 7 ส.ค. ถ้าผ่านประชามติรวมเวลาแก้คำถามพ่วง ก็ประมาณเดือน ต.ค. รัฐธรรมนูญจึงจะประกาศใช้ จากนั้นก็จะเป็นการทำกฎหมายลูก 4 ฉบับที่ใช้ในการเลือกตั้งประมาณ 2 เดือน พอเข้าการพิจารณาของสภาอีก 2 เดือน จึงจะส่งให้ กรธ. และ กกต. ดู ก็คาดว่าประมาณเดือน เม.ย. 2560 กฎหมายลูก 4 ฉบับก็จะออกมา พอกฎหมายลูก 4 ฉบับประกาศใช้ก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นเดือน ส.ค.- ก.ย. 2560
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านตั้งแต่ต้น ก็จะทำสิ่งแรกต่อ คือ แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อใช้เวลาประมาณ 1 เดือน อาจจะเป็นการนำฉบับใดฉบับหนึ่งมา ซึ่งการปรับแก้ หรือการทำใหม่นั้นอาจใช้เวลาไม่นาน แต่จะไปนานตรงที่อาลักษณ์เขียนลงสมุดไทย แต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยประกาศว่าไม่ว่าจะอย่างไรต้องเลือกตั้งให้ได้ในปี 2560 ส่วนจะบีบเวลาตรงไหนต้องไปพิจารณาอีกครั้ง