แม่น้ำหนึ่งสายแห้งขอด กรธ. ไม่ได้เข้าประชุมแม่น้ำ 5 สาย “วิษณุ” อ้างกำลังยุ่ง แต่จะประชุมแบบเต็มทุกสายเร็ว ๆ นี้ ถกเรื่องข้อติดขัดทำประชามติ “ประยุทธ์” ห่วงผลาญงบ 3 พันล้าน ทำไมปรับลดแจกร่างรัฐธรรมนูญแล้วยังแพงอยู่ เมินถก ส.ว. สรรหา บอกเป็นความเห็นส่วนตัว
วันนี้ (7 มี.ค.) ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมร่วมแม่น้ำ 4 สาย ประกอบด้วย คสช., คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุม ในส่วนของ ครม. และ คสช. มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วน คสช. มี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), ด้าน สนช. และ สปท. มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช., นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช., ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. และ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. เข้าร่วม
ต่อมาเวลา 16.10 น. นายวิษณุ เปิดเผยภายหลังประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ สาเหตุที่ กรธ. ไม่ได้เข้าประชุมด้วย เนื่องจาก กรธ. เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน จะต้องปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จในวันที่ 29 มี.ค. นอกจากนี้ ที่ประชุมติดตามงานแต่ละด้าน เนื่องจากไม่ได้ประชุมนานแล้ว โดยนายกฯ ดำริที่ประชุมจะเรียกประชุมแม่น้ำ 5 สายเต็มคณะในเร็ว ๆ นี้ ในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. ซึ่งแต่ละฝ่ายได้รายงานว่าติดขัดอะไรบ้าง รวมถึงได้หารือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 เพื่อทำประชามติ โดยนายสุวพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสาน 3 ฝ่าย (ครม. - สนช. - สปท.) ได้รายงานข้อติดขัดการทำประชามติ เช่น การแจกจ่ายรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่จะต้องแจกจ่ายให้ร้อยละ 80 ว่า จะทำอย่างไรให้แจกจ่ายทั่วถึง ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปดำเนินการ
ส่วนที่ประชุม สนช. จะมีการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในวันที่ 10 มี.ค. ตนจะไปชี้แจงเพื่อให้เกิดเข้าใจและตกผลึกในทุกเรื่อง ส่วนการร่างกฎหมายสำหรับการทำประชามติของ กกต. ล่าช้าไปบ้าง กกต. ได้เชิญผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปร่วมร่างด้วย อีกทั้ง ครม. เพิ่งส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวไปให้ สนช. เมื่อวันที่ 4 มี.ค. โดยตนได้แจ้งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ตามเรื่องนี้แล้ว เพราะทางประธาน สนช. เป็นห่วง อยากรู้ว่ามีเวลาในการพิจารณาเท่าไหร่
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงคำถามพ่วงทำประชามติ โดยมีการยกตัวอย่างวิธีการถามว่า จะถามและให้โหวตอย่างไร เช่น เกิดรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แล้วคำถามพ่วงหากมีไปแล้วไปแย้งกับรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร หรือรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแต่คำถามพ่วงผ่านจะทำอย่างไร คำถามที่เปิดปลายจะใช้ไม่ได้ ต้องเป็นคำถามที่ให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น
เมื่อถามว่า มีใครยกตัวอย่างคำถามพ่วง เช่น ให้รัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีใครยกตัวอย่างพิสดารอย่างนั้น เมื่อถามว่า ส่วนงบประมาณทำประชามติ 3 พันล้านบาท ที่นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงมากเกินไป ให้ไปหาวิธีปรับลดลงมานั้น นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ได้บอกว่าจะไม่ให้ แต่มีคำถามว่า ตอนแรกที่กำหนดให้แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 80 ต่อครัวเรือน ใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท แต่เมื่อเงื่อนไขนี้ไปแล้ว ทำไมถึงยังแพงอยู่ ตรงนี้ กกต. ก็ไม่ได้ยืนยันว่า จะใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาทแน่ ๆ เขาคงคิดอีกทีหนึ่งว่าสุดท้ายจะใช้งบประมาณเท่าไร
ขณะที่งบประมาณแบ่งเป็นจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ เดิม 800 ล้านบาท ตอนนี้ปรับลดลงมาไม่ถึงแล้ว ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ 900 ล้านบาท และส่วนงบประมาณที่เหลือใช้การรณรงค์เปิดเวที เช่าเวลา แจกจ่าย ทำความเข้าใจ น่าจะลดลงได้ เพราะตนว่ามากไป ส่วนกรณีที่ว่า กกต. ถังแตก และได้ของบประมาณมาที่เป็นงบประมาณประจำ ขณะนี้ ตนได้เซ็นเสนอเพื่อเข้าที่ประชุม ครม. แล้ว ทั้ง กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้มีการหยิบยกข้อเสนอ ส.ว. สรรหา ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หารือหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้หยิบยกมาหารือ เพราะทุกคนพูดเสียงตรงกันว่า เป็นความเห็นส่วนตัว