xs
xsm
sm
md
lg

ครม.- คสช.เคาะใช้ “เสียงข้างมาก” ผู้มาใช้สิทธิตัดสินประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ เผย ขอแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 รวม 5 ประเด็น ใช้คะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์เห็นชอบ ส่วนบัตรเสียและโหวตโนไม่นับเป็นคะแนน ให้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญทางเว็บไซต์ และสื่อมวลชน คำถามพ่วงประชามติให้ สนช. ส่งไปที่ กกต. ภายใน 15 วัน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การรณรงค์ เผยยังไม่พูดหากประชามติไม่ผ่าน เปรียบไทยเหมือนพระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ ต้องใช้ประชารัฐ - แม่น้ำ 5 สายรักษา ด้านโฆษกรัฐบาลเผยเตรียมปรับลดงบประชามติ ไม่ต้องแจกครบ 80% ของครัวเรือน

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.40 น. ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยเดินออกจากห้องประชุมภายในตึกสันติไมตรีกลับขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลทันที เพียงโบกมือทักทายผู้สื่อข่าวเท่านั้น

จากนั้นในเวลา 15.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้าแทน กล่าวว่า ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าขณะนี้มีความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 อีกครั้งหนึ่ง โดยขอแก้ 5 ประเด็น คือ 1. การนับคะแนนเสียงที่จะถือว่าผ่านประชามติจากเดิมที่ไม่มีความชัดเจน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงเสนอให้ใช้คำว่าคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงที่เห็นชอบ ส่วนบัตรเสียและบัตรโหวตโนไม่นับเป็นคะแนน ซึ่งคำนี้ถือว่าปิดช่องโหว่ข้อโต้แย้งแล้ว

2. อายุของผู้มีสิทธิลงประชามติ ให้ยึดผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ในวันลงประชามติ 3. การแจกจ่ายรัฐธรรมนูญให้ได้ร้อยละ 80 ของครัวเรือนที่มีปัญหานั้น ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง แต่เนื่องจากขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังทำร่างรัฐธรรมนูญอยู่เพื่อแจกจ่ายประชาชน จึงจะใช้ตัวนี้ไปแจกจ่าย เผยแพร่ทางเว็บไซต์ และเผยแพร่ทางสื่อมวลชนแทน ดังนั้น จึงไม่ต้องแจกจ่ายให้ได้ร้อยละ 80 ของครัวเรือน

4. คำถามพ่วงประชามติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ตั้งคำถามหากประสงค์ให้จะมีคำถามเพิ่ม แล้วส่งไปยัง กกต. ภายใน 15 วัน หลังจากมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ และ 5. หลักเกณฑ์ในการรณรงค์ให้เป็นไปตามที่ กกต. อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ. ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยจะเป็นมาตรฐานเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไป ประกอบกับหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติปี 50 ซึ่งอะไรทำไม่ได้ตอนนั้นก็ทำไม่ได้ในตอนนี้ ขณะที่เรื่องการชักชวนให้ต่อต้านการลงประชามติถือเป็นความผิด แต่การต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญถ้าพูดในเวทีที่ กกต. จัดไม่มีปัญหา เพราะ กกต. จะเป็นผู้ดูแลกติกา แต่ถ้าไปจัดกันเองต้องรับความเสี่ยงและความรับผิดชอบเอาเอง เพราะมีกฎหมายหลายฉบับ ทั้งเรื่องการหมิ่นประมาท พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถือว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้คำตอบในสิ่งที่ติดค้างอยู่ เข้าใจว่าภายในสัปดาห์จะยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสร็จ จากนั้นส่งมายังตนเพื่อจะส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอไปยัง สนช. พิจารณาภายใน 15 วัน

ส่วนประเด็นทางออกถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกัน ต้องกล่าวกันในระยะต่อไป แต่ถ้าสุดท้ายผ่านประชามติจะได้ไม่ต้องคิดอะไร หรือถ้าไม่ผ่านจะได้เร่งแก้ไข ซึ่งตอนนั้นคงรู้คำตอบแล้วว่าจะใช้วิธีการอย่างไร หากบอกไปตอนนี้จะเกิดอคติ อีกทั้งยังไม่รู้ว่าวิธีการใดเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และเรายังไม่รู้ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเป็นเพราะคนไม่ชอบประเด็นอะไร จะได้แก้ไขได้ถูกจุด แต่ยืนยันถึงอย่างไรจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 60 อย่างแน่นอน เพราะเป็นมติของที่ประชุม

นายวิษณุ กล่าวเปรียบเทียบสถานการณ์ในประเทศไทยกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ ว่า ประเทศไทยวันนี้เหมือนกับพระลักษมณ์ที่โดนหอกโมกขศักดิ์ จึงจำเป็นต้องมียาคือ สังขรณี และ ตรีชวา แล้วนำมาผสมกับแม่น้ำ 5 สาย โดยยาสังขรณี ตนเข้าใจว่า คือ ประชา ส่วนตรีชวาคือรัฐ นั่นคือ “ประชารัฐ” ต้องร่วมกัน แล้วไปเอาน้ำปัญจมหานทีมาผสม ซึ่งตนเองไม่ทราบว่าแม่น้ำ 5 สายคืออะไร ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วในประเทศไทยใครคือหนุมาน นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่บอก แต่ต้องไปบอกก่อนว่าอย่าเพิ่งออกมามามากนัก” จากนั้นนายวิษณุ กล่าวย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “พระอาทิตย์สีอะไร พระจันทร์สีเหลือง ทีนี้ใครคือหนุมาน ผมไม่ทราบ”

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการประชุมร่วม ครม. และ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้ คสช. และ ครม. เดินไปพร้อม ๆ กัน ในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ ซึ่ง คสช. จะต้องช่วยกันทำความเข้าใจร่วมกับรัฐบาล อาทิ การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การดูแลความมั่นคงปลอดภัยให้เกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้เคยสื่อสารถึงประชาชนไปบ้างแล้ว

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ ครม. ขอความร่วมมือ คสช. เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เรื่องการลงประชามติ ว่าทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ ลงประชามติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น เรื่องการออกหลักเกณฑ์ วิธีการและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ทุกฝ่ายว่า การลงประชามติมีความโปร่งใส ชัดเจนจะได้ไม่ต้องถกเถียงกันต่อไป ซึ่งเรื่องนี้นายวิษณุ ได้เป็นผู้ให้รายละเอียดต่อไป

พล.ต.สรรเสริญ ยังแถลงถึงภายหลังการประชุมร่วม ครม. และ คสช. ว่า ในเรื่องการทำประชามมติ ที่ประชุมได้หารือถึงงบประมาณในการทำประชามติ เนื่องจากตัวเลขล่าสุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เสนอนั้น เป็นตัวเลขมากกว่า 3,000 ล้านบาท โดยที่ประชุมเห็นว่าเป็นงบประมาณที่มากเกินไป จึงมอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหารือถึงวิธีการในการลดงบประมาณดังกล่าวลง โดยให้พิจารณาในรายละเอียด เช่น เมื่อไม่จำเป็นต้องแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญถึง 80% ของครัวเรือนทั่วประเทศแล้ว จะสามารถลดงบประมาณได้เท่าใด ซึ่ง ครม. เห็นว่า งบประมาณในการทำประชามติจะต้องคิดอย่างละเอียด รอบคอบ จึงจะสามารถลดงบประมาณลงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น