xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” อ้างมึนคำถามพ่วงประชามติ สปท.เสนอให้รัฐสภาโหวตนายกฯ ไม่รู้เปิดช่องไปสู่อะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ไม่รู้คำถามพ่วงประชามติ สปท. ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ไม่ทราบเปิดช่องไปสู่อะไร ชี้แม้ให้ 2 สภาลงมติเลือกนายกฯ ไม่ใช่จะได้นายกฯ คนนอกเสมอไป แนะรอดู สนช.เอาด้วยหรือไม่ เตรียมถก กกต.เตรียมทำประชามติ 11 เม.ย.นี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำถามพ่วงประชามติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เป็นการปูทางรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ว่า ไม่ทราบจะเป็นการเปิดช่องไปสู่อะไรบ้าง แล้วไม่รู้สุดท้ายจะไปตั้งคำถามไปเรียงอักษรใช้ถ้อยคำภาษากันอย่างไร และคำถามจะออกมาอย่างไร ตลอดจนต้องการส่งสัญญาณหรือต้องการสื่ออะไร

“ผมไม่รู้ว่าเขาต้องการจะถามให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. หรือจะให้ไปโหวตนายกฯ คนนอกได้ หรือจะประชุมร่วมกันสองสภาเพื่อจะเลือกนายกฯ ซึ่งอยากจะถามความชัดเจนจากเขาเหมือนกัน แต่ไม่อยากถามผ่านสื่อเนื่องจากจะกลายเป็นการชี้ช่อง แต่ลำพังจะให้สองสภามาประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ นั้นไม่ทำให้ได้นายกฯ คนนอกเสมอไป เพราะมีการกำหนดไว้แล้วว่าต้องให้ได้เสียง 2 ใน 3 จากที่ประชุม คือ ต้องได้ 500 เสียงขึ้นไป และ ส.ว.250 คนเองจะเจ็บจะป่วยไม่ได้เลย ต้องมาประชุมให้ครบ แล้วไปบวกกับ ส.ส.250 คนขึ้นไปอีก”

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้งนี้ ถ้าเลือกจากบัญชีที่แต่ละพรรคเสนอได้ไม่เกิน 3 คน สมมติ 10 พรรคเสนอได้ 30 คน แต่มีบางพรรคที่ได้เสียง ส.ส.ไม่เกิน 5% เสนอไม่ได้ อาจจะเหลือแค่ 5 พรรคคือ 15 คน แปลว่านายกฯ ประเทศไทยต้องเลือกจาก 15 คนนี้ แต่อย่าลืมว่าใน 15 คนไม่ได้ล็อกว่าต้องเป็น ส.ส. เนื่องจากจะเป็นคนในหรือคนนอกก็ได้ มันอยู่ที่แต่ละพรรค ดังนั้น นายกฯ จะคนในหรือคนนอกไม่ใช่ประเด็น เพราะเปิดทางให้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเลือกจาก 15 คนนี้เท่านั้น แล้วถ้าเกิดมีการถอดใจหรือไม่มีคุณสมบัติ จาก 15 คนจะเหลืออยู่ไม่เท่าไร ปัญหาจะมีตามมาได้ เพราะวาระเริ่มแรกบอกไว้ว่าหลังเลือกตั้งต้องเลือกกันแบบนี้ แล้วเกิดนายกฯ อยู่ไปได้ 1-2 ปีไม่ว่าสาเหตุใด ต้องย้อนกลับมาใช้บัญชีเดิมซึ่งตอนนั้นคนที่มีคุณสมบัติครบจะลดจำนวนลงแล้ว ทางสภาก็ต้องมามะรุมมะตุ้มกันอยู่แค่นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเขาจะตั้งคำถามว่าอย่างไร ถ้าส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจจะเปลี่ยนคำถาม นำมาผสม หรือจะทิ้งเลยก็ได้ ดังนั้น ต้องรอดูขั้นสุดท้ายที่ สนช.ว่าจะตั้งได้ครอบคลุมขนาดไหนแล้วแปลว่าอะไร สิ่งที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.เสนอตอนนี้ตนยังแปลไม่ออกเลยว่าต้องการเสนออะไร รู้ว่าอยากได้อะไร แต่ไม่รู้ว่าจะให้ถามอย่างไร ถ้าเป็นคำถามที่ทำให้เกิดความสับสนไม่น่าจะมี แต่ถ้าถามแล้วทำให้เกิดความกระจ่างแจ้งควรจะมี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อ กรธ.รู้จัก คสช.อยู่แล้ว ทำไมไม่ทำร่างรัฐธรรมนูญให้กระจ่างแจ้งไปเลยตั้งแต่แรก ไม่ต้องมาถามคำถามพ่วงประชามติอีก นายวิษณุกล่าวว่า ตอบได้ 3 คำ “นั่นน่ะสิ” เมื่อถามว่า เมื่อคำถามพ่วงประชามติขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ผ่านประชามติจะต้องทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ต้องมาแก้รัฐธรรมนูญ เพราะการที่รัฐธรรมนูญผ่านนั้นเป็นการพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยที่เราแยกประเด็นไม่ถูกว่าใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด แต่ถ้าคำถามพ่วงที่เฉพาะเจาะจงลงไปแล้วผ่านตรงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตรงนี้ถือเป็นหลักธรรมดา

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ได้นัดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันจันทร์ที่ 11 เม.ย. ที่ทำเนียบฯ เพื่อหารือกันในเรื่องการทำประชามติ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ วิธีการว่ามีอะไรบ้างที่ทำได้หรือไม่ได้ เป็นการขอความชัดเจน นอกจากนี้ ล่าสุดตนได้เชิญสำนักอาลักษณ์มาพูดคุยถึงการเขียนรัฐธรรมนูญในสมุดไทยที่ต้องเขียน 3 ฉบับเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ก็เหมือนกฎหมายอื่น จะเขียนให้ชัดเจนทั้งหมดไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามการตีความ เพราะเราไม่สามารถนึกถึงพฤติกรรมของคนได้หมดทุกเรื่อง ทุกคนอ่านกฎหมายฉบับเดียวกัน เจอช่องโหว่ได้ทั้งนั้น ตามที่ผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมืองพูดนั้นถูกต้องแล้วว่าดูที่เจตนาและการกระทำ คนสองคนพูดประโยคเดียวกัน ไม่จำเป็นว่าต้องผิดหรือถูกเหมือนกัน บางคนอาจจะผิดแต่อีกคนอาจจะไม่ผิด มันดูที่เจตนา ซึ่งตรงนี้ศาลจะเป็นคนพิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น