รองหัวหน้า ปชป.มองคำถามพ่วงประชามติ สปท. ให้ ส.ว.โหวตนายกฯ ผ่าน ต้องแก้ รธน.ขัดเจตจำนง ปชช.ที่เห็นชอบร่างฯ ค้านเพิ่มเติม รธน.ภายหลัง ติงทำสับสน มีนัยแฝงแสวงอำนาจ เชื่อก่อปัญหาด้านลบ ชี้สายลากตั้งไม่ควรมีอำนาจเท่า ส.ส.เลือกตั้ง
วันนี้ (4 เม.ย.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติส่งคำถามพ่วงประชามติในประเด็นให้ ส.ว.สรรหามีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีได้ว่า หากประชาชนเสียงข้างมากเห็นชอบให้ ส.ว.สรรหาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ก็ต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ การดำเนินการเช่นนี้น่าจะขัดต่อเจตจำนงของประชาชนที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญกลับถูกเปลี่ยนแปลงภายหลังออกเสียงประชามติ จึงไม่เป็นไปตามเจตจำนงที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้แล้ว
นายองอาจกล่าวต่อว่า ถ้าประชาชนจะรู้ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งโดยใส่เนื้อหาสาระให้ ส.ว.สรรหาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วยเข้าไปในรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมภายหลัง ประชาชนอาจจะลงมติไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญก็ได้
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากมิติของหลักการ การให้อำนาจ ส.ว.ซึ่งมีที่มาจากการคัดเลือกขั้นสุดท้ายของ คสช.ทั้ง 250 คน สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่สอดคล้องกับที่มา ในเมื่อ ส.ว.มีที่มาจากการคัดเลือกขั้นสุดท้ายของ คสช. ก็ไม่ควรมีอำนาจเท่าเทียมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศ
นายองอาจกล่าวอีกว่า การนำคำถามพ่วงมาเบี่ยงเบนเจตจำนงของประชาชน ย้อนแย้งเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดความสับสน สร้างความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ มีนัยแอบแฝงเพื่อการแสวงหาอำนาจโดยไม่ชอบของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น
“ถ้า สนช.ปล่อยให้มีคำถามพ่วงลักษณะนี้ พ่วงไปกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านลบมากกว่าด้านบวก จึงขอฝากให้ สนช. พิจารณาเรื่องคำถามพ่วงให้รอบคอบ รัดกุม และคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวของส่วนรวมเป็นหลักมากกว่าประโยชน์เฉพาะหน้าของคนไม่กี่คน” นายองอาจกล่าว