xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"ประกาศสู้วิชามาร "วิษณุ"มึนคำถามพ่วงสปท.ต้องการอะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.) ที่รัฐสภา ช่วงก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้มีการจัดพิธีรดน้ำดำหัวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 ให้กับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. โดยมีกรรมาธิการ เจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภา และสื่อมวลชนเข้าร่วมรดน้ำพร้อมขอพรจาก นายมีชัย
ทั้งนี้ ในระหว่างรดน้ำ มีผู้สื่อข่าวรายหนึ่งได้อวยพรให้“รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ แต่ให้คำถามประชามติที่สปท. เสนอให้ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ที่กำลังจะส่งให้สนช.พิจารณาในวันที่ 7 เม.ย.นี้ ไม่ผ่าน" โดยนายมีชัย ไม่ได้ตอบอะไร แต่ได้อวยพรกลับว่า“ขอให้มีความสุข ความเจริญ”
จากนั้นนายมีชัย ได้กล่าวขอบคุณ กรธ. ที่ร่วมงานกันมาอย่างเหน็ดเหนื่อย รวมถึงสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าว และเข้าใจการทำงานของกรธ. โดยส่วนใหญ่อวยพรให้ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ตนดีใจที่ได้ทำงานร่วมกับทุกคน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ถือว่าผลงานอยู่ในเกณฑ์ที่อวดใครได้ เส้นทางข้างหน้าอีกยาวไกล เราต้องเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ต้องเผชิญกับวิชามาร และต้องเผชิญกับอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมาอีกมาก จากนี้ไปเดือนเม.ย.นี้ เราต้องทำงานกันหนักมากยิ่งขึ้น เดินหน้าชี้แจงกับประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องตัดสินใจ เราร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จากนี้เราก็ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบว่า เราคิดอย่างไร ทำไมถึงทำอย่างนั้น
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงคำถามพ่วงประชามติ จะส่งผลลบต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย ปฎิเสธที่จะตอบคำถามโดยกล่าวสั้นๆว่า "เป็นวันดี มาให้พร ไม่อยากตอบคำถามให้บรรยากาศเสีย ขอให้ถามวันอื่นแทน"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง คำถามพ่วงประชามติของ สปท. ที่ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เป็นการปูทางรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ว่า ไม่ทราบจะเป็นการเปิดช่องไปสู่อะไรบ้าง แล้วไม่รู้สุดท้ายจะไปตั้งคำถามออกมาอย่างไร ตลอดจนต้องการส่งสัญญาณ หรือต้องการสื่ออะไร ไม่รู้ว่าเขาต้องการจะถามให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. หรือจะให้ไปโหวตนายกฯ คนนอกได้ หรือจะประชุมร่วมกันสองสภา เพื่อจะเลือกนายกฯ ก็อยากจะถามความชัดเจนจากเขาเหมือนกัน แต่ลำพังจะให้ 2 สภามาประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ นั้นไม่ทำให้ได้นายกฯ คนนอกเสมอไป เพราะมีการกำหนดไว้แล้วว่า ต้องให้ได้เสียง 2 ใน 3 จากที่ประชุม คือต้องได้ 500 เสียงขึ้นไป และ ส.ว. 250 คน จะเจ็บจะป่วยไม่ได้เลย ต้องมาประชุมให้ครบ แล้วไปบวกกับส.ส. 250 คนขึ้นไปอีก
ถ้าเลือกจากบัญชีที่แต่ละพรรคเสนอได้ไม่เกิน 3 คน สมมุติ 10 พรรค เสนอได้ 30 คน แต่มีบางพรรคที่ได้เสียงส.ส.ไม่เกิน 5% เสนอไม่ได้ อาจจะเหลือแค่ 5 พรรค คือ 15 คน แปลว่า นายกฯประเทศไทยต้องเลือกจาก 15 คนนี้ แต่อย่าลืมว่าใน 15 คน ไม่ได้ล็อกว่าต้องเป็นส.ส. เนื่องจากจะเป็นคนใน หรือคนนอกก็ได้ อยู่ที่แต่ละพรรค
ดังนั้น นายกฯจะคนใน หรือคนนอกไม่ใช่ประเด็น เพราะเปิดทางให้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเลือกจาก 15 คนนี้เท่านั้น แล้วถ้าเกิดมีการถอดใจ หรือไม่มีคุณสมบัติจาก 15 คน จะเหลืออยู่ไม่เท่าไร ปัญหาจะมีตามมาได้ เพราะวาระเริ่มแรกบอกไว้ว่า หลังเลือกตั้งต้องเลือกกันแบบนี้ แล้วเกิดนายกฯ อยู่ไปได้ 1 - 2 ปี ไม่ว่าสาเหตุใด ต้องย้อนกลับมาใช้บัญชีเดิม ซึ่งตอนนั้นคนที่มีคุณสมบัติครบจะลด จำนวนลงแล้ว ทางสภาก็ต้องมามะรุมมะตุ้มกันอยู่แค่นี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า เขาจะตั้งคำถามว่าอย่างไร ถ้าส่งไปสนช. อาจจะเปลี่ยนคำถาม นำมาผสมหรือจะทิ้งเลยก็ได้ ดังนั้น ต้องรอดูขั้นสุดท้ายที่ สนช.ว่าจะตั้งได้ครอบคลุมขนาดไหน แล้วแปลว่าอะไร สิ่งที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. เสนอตอนนี้ ตนยังแปลไม่ออกเลยว่า ต้องการเสนออะไร รู้ว่าอยากได้อะไร แต่ไม่รู้ว่าจะให้ถามอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นคำถามที่ทำให้เกิดความสับสน ก็ไม่น่าจะมี แต่ถ้าถามแล้วทำให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ควรจะมี
เมื่อถามว่า เมื่อคำถามพ่วงประชามติขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ผ่านประชามติ จะต้องทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องมาแก้รัฐธรรมนูญ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ได้นัดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันจันทร์ที่ 11 เม.ย. ที่ทำเนียบฯ เพื่อหารือกันในเรื่องการทำประชามติ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ วิธีการว่ามีอะไรบ้างที่ทำได้ หรือไม่ได้ เพื่อเป็นการขอความชัดเจน
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการลงประชามติ ร่างรธน.ว่า ไม่ว่าจะผ่าน หรือไม่ผ่าน ต้องมีการเลือกตั้งในปี 60
เมื่อถามว่า ทางรัฐบาล และ คสช.จะมีมาตรการรองรับอย่างไร หากร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "เรามีมาตรการรองรับไว้แล้ว ดังนั้นไม่ต้องห่วง เพราะ คสช.เขาระบุชัดแล้ว จะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ส่วนแผนรองรับจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.เป็นผู้ดำเนินการ ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เพื่อไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง" พล.อ.ประวิตร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น