ประธาน กรธ.ยังไม่ค่อยเข้าใจ สปท.ชงประชามติให้ ส.ว.โหวตนายกฯ ได้ จะให้ใส่ในไหน รอ สนช.พิจารณา ชี้อาจต้องแก้ในบทเฉพาะกาล ทำให้ชัดเจน แต่ชี้ไม่ง่าย บอกไม่หนักใจหากต้องแก้ร่างเพราะเรื่องยังไม่เกิด คาด กม.ลูก 4 ฉบับเสร็จตามกำหนด เล็งชงองค์กรอิสระร่าง กม.รอ หวังทุกฝ่ายเอาข้อมูลจริงไม่ผสมความเห็นแจงชาวบ้าน ชี้ให้วุฒิสภาร่วมพิจารณา กม.ยุติธรรมหวังไม่ให้คดีสะดุด ยันรัฐบาลใหม่สามารถยกเลิกคำสั่ง คสช.ได้
วันนี้ (3 เม.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติส่งคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าต้องการให้แก้ไขในบทเฉพาะกาลหรือแก้ข้างในจึงตอบไม่ได้ อีกทั้งเมื่อ สปท.มีมติแล้วยังต้องส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการตั้งคำถามหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ต้องกลับมาแก้เพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้เวลาไว้ 30 วัน หากแก้เฉพาะบทเฉพาะกาลก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าแก้เนื้อหาข้างในอาจเป็นปัญหาได้ว่าประชาชนลงประชามติร่างดังกล่าวแล้ว แต่จะเอาอันนี้ด้วยตกลงจะเอาอย่างไร จึงต้องทำให้ชัดเจนก่อนไปลงประชามติ ซึ่งคนตั้งคำถามต้องคิดให้ละเอียด
“หากผลสรุปประชามติออกมาอย่างไร กรธ.ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะขัดขืนอะไรได้ แต่ขั้นตอนประชามติไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องใช้เสียงข้างมากไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศแบบไหนก็ไม่มีใครควบคุมได้เนื่องจากลงคะแนนโดยอิสระเสรีและเป็นความลับ จึงไม่มีใครควบคุมได้ ซึ่งขณะนี้ก็มีการรณรงค์ให้คว่ำรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนที่คนในรัฐบาลออกมาเตือนว่าอาจขัดกฎหมายก็คงเป็นแค่คำเตือนเฉยๆ แต่ต้องดูกฎหมายประชามติให้ดีๆ ว่าเป็นอย่างไร” นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยกล่าวต่อว่า ยังไม่หนักใจว่าจะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อหลักการที่วางไว้หรือไม่ เพราะเรื่องยังไม่เกิด โดยขั้นตอนต่อไปในการทำกฎหมายลูกจะไม่เกินกรอบที่กำหนดตามโรดแมป เพราะเขียนในรัฐธรรมนูญแล้วว่าดำเนินการเลือกตั้งได้เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องเสร็จ กรธ.ก็ต้องเริ่มต้นทำ 4 ฉบับนี้ก่อนค่อยไปทำอย่างอื่น จึงไม่น่าจะเลยเวลาที่กำหนด ซึ่งในขณะนี้กำลังหารือว่าจะมีหนังสือถึงองค์กรอิสระกับศาลรัฐธรรมนูญให้ร่างกฎหมายสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อผ่านประชามติจะได้ลงมือทำได้เลย เพราะจะมีเวลาอยู่ 3-4 เดือนเมื่อส่งให้ กรธ.ก็จะพิจารณาได้ง่ายขึ้นโดยเราจะเอาของเขามาเป็นฐาน จะเปลี่ยนแปลงเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยขั้นตอนต่อจากนี้ กรธ.จะสรุปร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ กกต.ก่อนวันที่ 13 เมษายนนี้ ทั้งนี้ กรธ.จะทำหน้าที่ในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญด้วยเพราะเป็นผู้ยกร่าง ซึ่งจากผลสำรวจความเห็นประชาชนพบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูบทสรุปของกฎหมายประชามติก่อนว่าออกมาอย่างไร โดยอยากให้ทุกฝ่ายบอกข้อมูลที่แท้จริงอย่าเอาข้อมูลไปผสมกับความเห็นเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสิน เพราะ กรธ.ก็ไม่ได้ให้โหวตรับบอกแค่ว่าประชาชนได้อะไรจากร่างรัฐธรรมนูญ
นายมีชัยยังกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้วุฒิสภาร่วมพิจารณากฎหมายทีเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมว่า ต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดำเนินการอยู่ต้องสะดุดลง ในส่วนของกฎหมายนิรโทษกรรมอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านิรโทษกรรมหรือล้างมลทินอะไร เช่น การล้างมลทินโดยกฎหมายล้างมลทินเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น ในปีหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา อาจจะมีก็ได้ ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.แม้ว่าจะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมแต่ไม่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย จึงไม่เข้าข่ายที่ ส.ว.จะร่วมพิจารณา แต่ถ้ามีความสงสัยว่าเรื่องไหนต้องให้ ส.ว.ร่วมพิจารณาก็ไปถามศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีใครคิดอะไรพิสดารหรือไม่
“การกำหนดเรื่องนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเหมือนคราวที่แล้ว ไม่ใช่เปิดช่องอะไรโดยเจตนาคือไม่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายที่กระทบกระเทือนกับการดำเนินคดีของฝ่ายตุลาการ โดยคาดหวังว่าวุฒิสภาจะร่วมพิจารณาให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแต่ถ้าออกมาในทิศทางตรงกันข้าม ส.ว.ก็ต้องรับผิดชอบ” นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยยังกล่าวถึงเนื้อหาในมาตรา 279 ที่บัญญัติคุ้มครองการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้หมายความว่าคำสั่งเหล่านี้จะยกเลิกไม่ได้ โดยรัฐบาลใหม่สามารถออกกฎหมายยกเลิกได้ หรือหากพบว่ามีคำสั่งใดที่อาจมีปัญหาเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะหากขัดรัฐธรรมนูญก็บังคับใช้ไม่ได้